29 พฤษภาคม 2566

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อประชาธรรมได้ร่วมกับ The Goodcery TH จัดงาน “อาหาร/เรา/โลก” ชวนคนเชียงใหม่ที่สนใจเรื่องอาหาร และที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นอาหารจานหนึ่งผ่านเรื่องเล่าของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในท้องถิ่น พร้อม ๆ กับการเรียนรู้เรื่องราวของอาหารผ่านกิจกรรม workshop ที่จะทำให้เราเข้าใจว่า อาหารที่เรากินอยู่ทุกวันมีเส้นทางการเดินทางมาอย่างไร

รวมถึงวงคุย Rewind Talk ย้อนรอยเส้นทางอาหาร ทำไมอาหารดี ๆ จึงหายาก ทำไมเกษตรกรถึงไม่อยากปลูกพืชผักอินทรีย์ ทำไมตลาดท้องถิ่น และร้านชำใกล้บ้านถึงหายไป แล้วเราในฐานะผู้บริโภคจะทำอย่างไรเพื่อให้เราทุกคนได้เข้าถึงอาหารดี ๆ ในราคาที่เหมาะสม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ร่วมพูดคุยได้แก่ ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อ.ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร ม.แม่โจ้ และภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร เจ้าของร้าน The Goodcery

“ช่องว่างของความรู้ แรงบันดาลใจในการทำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การทำเกษตรกรไทย มีความหลากหลาย แตกต่างกัน มองว่าทุกคนมีปัจจัยในชีวิตที่ต่างกัน อีกปัจจัยที่จำเป็นคือการเข้าถึงเทคโนโลยีในการปรับปรุงอาหาร ซึ่งช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้เป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่จะเข้าไปหนุนเสริมได้ และที่สำคัญคือในต่างประเทศมีความสามารถของเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ เส้นทางอาหารได้ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถย่อยสลายสารเคมีในดินได้ ปัจจัยหลาย ๆ อย่างนี้จะส่งผลต่อการทำเกษตรอินทรีย์” ผศ.ดร.ณภัทรกล่าว

จากต้นน้ำการผลิตสู่ปลายน้ำการบริโภค

ด้านภัทรานิษฐ์ เจ้าของร้าน The Goodcery กล่าวว่า “ทุกจาน ทุกเมนูที่ร้านเราต้องมีพื้นฐานว่าแหล่งที่มามาจากไหน รู้ว่าอะไรผลิตที่ไหน คำว่า slow food ไม่ได้หมายความว่าเป็นการทำอาหารที่ช้าลง แต่เป็นการใคร่ครวญกับการทำอาหารมากขึ้น เราสามารถเห็นได้ว่าคนทำอะไรกับอาหารจานหนึ่งมาตั้งแต่ต้น”

ภัทรานิษฐ์ย้ำว่า เหตุผลในการให้ความสำคัญกับ slow food คือการที่เราบริโภคอาหารแบบไม่รู้ที่มา ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาทีหลังโดยที่เราไม่รู้ตัว และมันไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับความผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นปกติ “เราถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ การเข้าร้านสะดวกซื้อในการบริโภคแต่ละวัน เราอาจจะต้องมาคำนึงถึงการกินอาหารที่รู้ที่มาว่ามันไม่รบกวนระบบนิเวศทั้งหมด เรากำลังทำอาหารที่กำลังรื้อโครงสร้างของระบบ” ภัทรานิษฐ์กล่าว

อาหารหนึ่งจานมันไม่ได้อิ่มคนเดียว แต่มันอิ่มไปหลายชุมชน

ผศ.ดร.ณภัทรกล่าวว่า “ปัจจุบันการคนกินวีแกนมีอำนาจต่อรองในตลาดสูงมาก เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่ทำให้เกิดอาหารปลอดภัยสำหรับมนุษยชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย”

“เกษตรกรเข้าไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นเรื่องไม่จริง คือเกษตรกรมันมีหลายระดับมาก ตั้งแต่คนที่มีพร้อมทุกอย่างไปจนถึงคนที่มีหนี้สิน เรื่องสำคัญคือปัจจัยการผลิตที่มันไม่เท่ากัน เกษตรกรบางคนมีที่ดินทำกิน แต่บางคนต้องเช่าที่ดิน และเรื่องที่สองคือ ตลาดมันมีหลายแบบ มันอาจจะไม่ใช่ตลาดออนไลน์อย่างเดียวที่ตอบโจทย์ อย่างระบบ market place ที่สามารถเป็นตัวเชื่อมให้เกษตรกรกับผู้บริโภคมาเจอกันก็มี”

ภัทรานิษฐ์ กล่าวว่าผู้บริโภคมักถูกสปอยล์ว่าการที่เราเป็นผู้บริโภค เรามีอำนาจ ทำให้เราคิดว่าเราต้องได้ในสิ่งที่สะดวกสบายที่สุด จริง ๆ แล้วมันไม่จำเป็น ภาระมันจะกลับไปที่เกษตรกร ผู้บริโภคต้องก้าวข้ามตรงนั้น และเข้าใจสถานการณ์ของเกษตรกรมากกว่า

สามารถรับชมวิดีโอถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/kElTuLutcL/

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมแจกรางวัลงานประกวดสื่อ “สิ่งแวดล้อมเมืองเชียงใหม่ในสายตาคนท้องถิ่น” ซึ่งผลงานทั้งหมดสามารถรับชมได้ทาง Facebook และ Youtube ของสื่อประชาธรรม

Similar Posts