เรื่องและภาพ : รัชชา สถิตทรงธรรม ,ชัยนิวัตร สิงห์สถิตย์/Activist Journalist

“คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator)” เราเริ่มได้ยินและเห็นคำนี้ปรากฏบ่อยขึ้นในวงการสื่อสารเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล ยุคที่คนเจเนอเรชั่น Z เริ่มเปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงาน คอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่รองรับคนจบการศึกษาจากคณะหรือสายงานด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถนัดด้านการเขียน การพูด ออกแบบ วาดภาพ ถ่ายภาพ หรือทักษะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร

“คุณคิดว่าตำแหน่งคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทำอะไรบ้าง”

“เขียนบทความ เขียนสคริปต์ คิดแคปชั่นโฆษณา”

“ถ่ายรูป ถ่ายคลิป ตัดต่อ โพสต์ลง TikTok”

“ตามข่าว ตามกระแส จับประเด็นที่คนกำลังสนใจแล้วมาปรับใช้กับงานของเรา”

ฯลฯ

คำถามและคำตอบที่มักจะพบเจอตอนสัมภาษณ์งานตำแหน่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่อาจถูกมองว่าเป็นการทำงานแบบมัลติสกิล (Multi-skill) ที่คน 1 คนต้องมีทักษะมากกว่า 1 อย่างในการทำงานชิ้นหนึ่ง ลักษณะการจ้างงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์จะมี 2 แบบหลักคือ เป็นพนักงานรับเงินเดือนประจำ (Inhouse) หรือเป็นฟรีแลนซ์รับค่าตอบแทนเป็นชิ้นงานหรือโปรเจกต์

เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มันไม่ง่าย

แค่เขียนเก่ง ถ่ายรูปสวย ออกแบบเก๋ก็เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้แล้วจริงหรือ เพราะกว่าจะทำให้ทักษะดังกล่าวพาตัวเองไปถึงจุดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และกว่าจะสามารถปั้นพื้นที่สื่อของตนให้มีตัวตนจนเป็นที่ยอมรับบนโลกออนไลน์ได้ ก็ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเข้าไปอีก

ยิ่งเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในเมืองที่ไม่ใช่เมืองเศรษฐกิจหรือเมืองท่องเที่ยวหลัก ยิ่งไม่ง่ายจนแทบจะหาความเป็นไปได้ที่จะอยู่รอดไม่เจอเลย

“ตอนทำงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่กรุงเทพฯ เงินเดือนเด็กจบใหม่สตาร์ทที่ 15,000 – 16,000 บาท ระดับซีเนียร์ไปจนถึงหัวหน้างานก็จะได้เงินเดือนราว 20,000 – 25,000 บาท โดยที่ยังไม่รวมงานนอก แต่พอลาออกมาทำงานตำแหน่งเดิมที่เชียงใหม่ เรทเงินเดือนลดลงมาเหลือ 9,000 – 15,000 บาท ทั้ง ๆ ที่เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีความต้องการจ้างงานคนกลุ่มอาชีพนี้มากพอ ๆ กับกรุงเทพฯ แล้วถ้าเรทรายได้คอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือคนทำงานสร้างสรรค์ในเชียงใหม่ยังน้อยขนาดนี้ก็ไม่อยากจะนึกสภาพเลยว่า เมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือจะย่ำแย่ขนาดไหน”

คอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยให้ฟังถึงข้อแตกต่างของรายได้จากงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด และพูดถึงภาพรวมของแหล่งงานในลำปางซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาอีกด้วยว่า องค์กรและบริษัทในลำปางส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจว่า คอนเทนต์ครีเอเตอร์จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของบริษัทหรือองค์กรของตนได้อย่างไร ทำให้คนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำงานสายนี้เข้าใจว่า ลำปางไม่มีแหล่งงานรองรับคนกลุ่มอาชีพนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนกลุ่มนี้ต้องไปหางานทำในกรุงเทพฯ หรือใกล้สุดที่เชียงใหม่

จากการสืบค้นข้อมูลการประกาศรับสมัครงานประเภทงานสร้างสรรค์ในจังหวัดลำปางตลอดปี 2566 ตามเว็บไซต์บริษัทจัดหางานยอดนิยม ปรากฏว่าทุกเว็บไซต์ไม่ปรากฏข้อมูลการประกาศรับสมัครงานดังกล่าวในจังหวัดลำปางเลยแม้แต่ครั้งเดียว และเมื่อสอบถามไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปางกลับพบกับความประหลาดใจอีกอย่างหนึ่งคือ ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา เพราะจากข้อมูลการประกาศรับสมัครงานในจังหวัดลำปางที่ทางสำนักงานจัดหางานฯ ได้รับตลอดปี 2566 ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการรับสมัครงานตำแหน่งนี้เลย แต่มีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสรรค์อยู่บ้าง เช่น มีการประกาศรับสมัครงานตำแหน่งกราฟิกดีไซน์เนอร์ 2 อัตรา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด 3 อัตรา และตำแหน่งแอดมินเพจ 2 อัตรา โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลที่นับเฉพาะตามที่ประกาศบนเว็บไซต์สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปางซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการจ้างงานหรือการเข้าถึงคนกลุ่มอาชีพผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ในลำปาง ณ ปัจจุบัน

นับตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายพบว่า คนลำปางเริ่มรับรู้และรู้จักตำแหน่งงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากขึ้นจากความพยายามสร้างการรับรู้โดยกลุ่มสื่อท้องถิ่นและอินฟลูเอ็นเซอร์ในลำปาง เช่น “ลำปาง เมืองต้องห้ามพลาด” “Lampang Variety – ลำปางวาไรตี้ ข่าว,รีวิว” “ที่นี่ ลำปาง” “ตะลอนตะหลอด : ชาติพันธุ์ลำปาง-แพร่” “ก๋าไก่ Next Gen” “ละอ่อน LaOn” เป็นต้น

พิโรดม จันทนะเสวี ผู้ก่อตั้งเพจ “Lampang Variety – ลำปางวาไรตี้ ข่าว,รีวิว” ในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า การวางตนเป็นสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์ระดับท้องถิ่นมีความน่าท้าทายที่นอกจากจะต้องจับประเด็นหรือกระแสที่คนลำปางสนใจและนำมาสื่อสารต่อคนลำปางให้อินกับเรื่องนั้น ๆ เหมือนกับเราได้อย่างไร การเลือกใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับประเด็นสื่อสารของเรายังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของสื่อประเภทต่าง ๆ อีกด้วย เพราะด้วยความที่แพลตฟอร์มหลักอย่าง Facebook ในตอนนี้ถูกจำกัดการมองเห็น ลูกเพจที่ติดตามเราเริ่มเบื่อหน่ายข้อจำกัดนี้จนทำให้ลูกเพจส่วนหนึ่งหันไปเสพคอนเทนต์บน TikTok ซึ่งเน้นคอนเทนต์รูปแบบคลิปวิดีโอสั้นแทน

“พอคนหันไปเล่น TikTok มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่พี่ถ่ายแต่ภาพนิ่งแล้วโพสต์ Facebook วันนี้พี่ต้องหัดถ่ายและตัดต่อคลิปวิดีโอ เพราะคอนเทนต์หลักของลำปางวาไรตี้ส่วนมากจะเป็นรีวิวร้านอาหาร คาเฟ่ และที่พักรีสอร์ท พี่ก็ต้องไปศึกษาแนวการเล่น TikTok เพิ่มอีกว่าต้องทำคลิปแบบไหนถึงจะน่าสนใจ และที่สำคัญคือทำไปแล้วต้องมีผลตอบรับที่ดีจากผู้ชมด้วย”

“พอพี่เริ่มเน้นแพลตฟอร์ม TikTok มากขึ้น ความคาดหวังจากผู้ชมก็มากขึ้นตามไปด้วย จากเมื่อก่อนที่พี่ไปถ่ายรีวิวแค่คนเดียว มือถือเครื่องเดียวก็ถ่ายได้ แต่ถ้าใครยังมองว่าถ่ายคลิปวิดีโอลง TikTok ง่ายนิดเดียว ใช้แค่มือถือก็ถ่ายได้ ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว พี่ต้องมีทีมงานมาช่วยดูเรื่องการถ่ายทำและตัดต่อคลิปด้วย เพราะงานถ่ายวิดีโอมีขอบเขตงานกว้างกว่าการถ่ายภาพนิ่ง เทคนิค อุปกรณ์ที่ใช้ก็คนละแบบกัน ถ้ายังทำคนเดียวไม่ไหวแน่นอน”

การหันมาเน้นทำคอนเทนต์ลง TikTok ให้มากขึ้น นอกจากจะเป็นเรื่องที่สื่อทุกประเภทต้องพยายามปรับตัวให้ทันพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ยุคดิจิทัลแล้ว พิโรดมยังมองว่าเป็นการลงทุนกับความคาดหวังของคนด้วย เพราะทุกครั้งที่ลงคลิปแล้วได้ยอดวิวหรือยอดเอ็นเกจที่มากเกินความคาดหมาย สิ่งที่ตามมาคือลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารเริ่มเชิญให้ไปถ่ายคลิปทำรีวิวที่ร้าน และแน่นอนว่าเจ้าของร้านต้องคาดหวังค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นนอกจากการนำเสนอคอนเทนต์ให้น่าสนใจแล้ว พิโรดมยังถือว่าเป็นการขายความเป็นมืออาชีพให้กลุ่มลูกค้าได้รับรู้และเข้าใจการทำงานของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบโปรดักชัน หรือการใช้นายแบบหรือนางแบบมาช่วยสื่อสารคอนเทนต์รีวิว

คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในมุมมองผู้ประกอบการ

จากการรับรู้อาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในลำปางทำให้ฝั่งผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร คาเฟ่ ที่พัก หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในลำปางเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของครีเอเตอร์ หากแต่จะอาศัยแรงขับเคลื่อนจากทักษะของคนทำงานหรือลูกจ้างอาจทำให้การสื่อสารแบรนด์ของตนยังน่าสนใจได้ไม่พอ ฝั่งผู้ประกอบการเองก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจทักษะดังกล่าวร่วมกับคนทำงานเพื่อนำมาเติมเต็มให้กับการสื่อสารแบรนด์แบบครีเอเตอร์ด้วยเช่นกัน

“พี่เปิดร้าน ทำอาหารคลีนแบบฟิวชั่น และพยายามสื่อสารว่าทุกเมนูของร้านล้วนมีเรื่องราวและที่มาที่ไปเสมอ แบบนี้จะเรียกว่าเป็นครีเอเตอร์ได้ไหม”

ชญาดา ศรีมานิตรากูล ผู้ประกอบการร้านอาหาร “ทานคลีน – Taan Clean” ในตัวเมืองลำปาง อธิบายความเป็นครีเอเตอร์ตามความเข้าใจของตนว่า การสื่อสารร้านอาหารไม่ได้มีแค่ภาพอาหารแล้วมีชื่อเมนูประกอบและข้อมูลติดต่อของร้านแล้วก็จบ เพราะทุกองค์ประกอบที่นำมาจัดวางและตกแต่งตามมุมต่าง ๆ ภายในร้านก็เป็นการสื่อสารร้านอาหารอย่างสร้างสรรค์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกกลั่นกรองโดยกระบวนการคิด ออกแบบ และดูแลเอาใจใส่จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของร้านที่ต้องเขียนแคปชั่นลงบนเพจร้านฯ  การเขียนเกิดขึ้นได้เพราะมาจากการอ่าน การค้นคว้าหาข้อมูลแล้วสกัดออกมาเป็นความเข้าใจที่เราอยากจะสื่อสารกับลูกค้าของเรา

“ถ้าถามว่าจากคอนเซ็ปต์การสื่อสารแบรนด์ร้านอย่างที่พี่เล่าไป พี่มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ช่วยคิดด้วยไหม คำตอบคือพี่เป็นคนคิด ออกแบบ และลงมือสื่อสารด้วยตนเองทั้งหมด และภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารในลำปางตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดย่อม ผู้ประกอบการจะเป็นคนโพสต์คอนเทนต์ลงบนเพจเองทั้งหมด ด้วยต้นทุนที่มีทั้งวัตถุดิบ อุปกรณ์ และแรงงาน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดลำปางที่อยู่วันละ 332 บาท (สำรวจล่าสุดปี 2566) ถือเป็นต้นทุนที่มีราคาสูงมาก หากต้องจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประจำด้วยก็จะทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนด้านแรงงานที่สูงเกินความจำเป็น”

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการในลำปางต้องพยายามปรับตัวกับความจำเป็นที่ต้องใช้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ งานอะไรที่พอจะทำเองได้ก็ทำเลย เช่น ถ้าจะทำคอนเทนต์โปรโมทเมนูอาหารใหม่ก็ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับกล้องถ่ายรูป DSLR หรือ Mirrorless สำหรับถ่ายภาพนิ่งหรือคลิปวิดีโอโดยศึกษาจากคอนเทนต์ประเภท How to บน YouTube ควบคู่กันไป หรือบางคนที่อาจพอมีกำลังทรัพย์บ้างก็ไปลงคอร์สเรียนถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง หรือยิงแอดบนโซเชียลเอง

“ผู้ประกอบการในลำปางที่เป็นคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่รู้และเข้าใจดีว่า คอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถช่วยแบ่งเบาภาระหรือเติมเต็มส่วนที่ธุรกิจต้องการได้มากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยบริบทเมืองลำปางที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจระดับเมืองรองทำให้คนลำปางมีกำลังซื้อที่จำกัด การซื้อขายจึงหมุนเวียนเฉพาะในเมืองหรืออำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง ทำให้รายได้หรือยอดขายของผู้ประกอบการยากที่จะเพิ่มสูงไปกว่านี้ได้”

แม้ชญาดาจะมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนจนต้องทำคอนเทนต์เองแทนการจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประจำ แต่บางงานที่ชญาดาไม่สะดวกทำด้วยตนเอง เช่น งานกราฟิก ออกแบบเมนู ออกแบบโลโก้ หรืองานพิมพ์ ก็จะไปจ้างร้านปรินท์หรือจ้างฟรีแลนซ์มารับเป็นจ๊อบไป

ในขณะที่ ปราณี รัตนพล ผู้ประกอบการร้านค้าเนื้อสดลำปาง TheButcherMind8Meat ที่จ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพื่อออกแบบงานกราฟิกและคิดคำโฆษณา (Copywrite) ลงบนแบนเนอร์สำหรับโปรโมทบนสื่อโซเชียลจนมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ลูกค้าในลำปางเห็นแล้วจำได้เลยว่าเป็นแบรนด์ของใคร

“พี่จ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบฟรีแลนซ์ประจำ จ่ายเงินเดือนตามความสามารถและจำนวนชิ้นงานที่ได้ในแต่ละเดือน ถ้าเดือนไหนคุณขยันคุณก็ได้มากกว่าตัวเลขที่คุณคาดหวังไว้ เพราะเรทเงินเดือนมาตรฐานสำหรับการจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์เริ่มต้นจริง ๆ อยู่ที่ 15,000 บาทซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจในลำปาง แต่พี่อยากจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีงานทำ ให้เขาได้อยู่บ้านกับครอบครัวที่ลำปาง ไม่ต้องออกไปทำงานจังหวัดอื่น พี่เลยให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์นำเสนอแผนการทำงานแต่ละเดือนเลยว่า เดือนนี้จะทำอะไร จะมีงานออกมากี่ชิ้น งานแต่ละชิ้นมีมูลค่าเท่าไร พี่ก็จะดูคุณภาพงานควบคู่ไปด้วยว่า สมเหตุสมผลกับปริมาณงานและจำนวนเงินที่พี่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนหรือไม่” 

ปราณีพยายามอธิบายเหตุผลเพื่อสนับสนุนการจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในลำปางว่าจำเป็นต่อผู้ประกอบการธุรกิจยุคดิจิทัลอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องกลุ่มลูกค้าที่ตนมองว่า ทำไมต้องจำกัดกลุ่มเป้าหมายแค่ในลำปาง ในเมื่อสินค้าของทางร้านอย่างเนื้อสดเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงและหาซื้อเพื่อนำไปประกอบอาหารได้ 

“พี่ต้องการเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้ได้มากกว่าในลำปาง เพราะด้วยภาพลักษณ์ของแบรนด์และสินค้าที่มีภายในร้านชัดเจนอยู่แล้วว่าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากกว่า แต่ในขณะที่ร้านค้าอื่น ๆ ในลำปางเขาอยู่ได้เพราะส่วนหนึ่งมาจากฐานลูกค้าแบบปากต่อปากค่อนแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่พี่จ้างก็จะมาช่วยเติมเรื่องการวางแผนสื่อสารแบรนด์และโปรโมทสินค้าในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะเป็นการคิดคำโฆษณาสำหรับออกแบบกราฟิก คิดแคมเปญโปรโมชั่นสนับสนุนการขาย  กว่าพี่จะหาคนสมัครที่ตรงตามสเป็กที่ต้องการ ก็ใช้เวลาเลือกคนอยู่นานพอสมควร เพราะเศรษฐกิจในเมืองไม่ได้เอื้ออำนวยต่อกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์เลย”

เมืองสร้างสรรค์ แต่อาชีพผู้ผลิตงานสร้างสรรค์กำลังจะอยู่ไม่ได้

ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมายังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ หลายภาคส่วนในลำปางพยายามจะขับเคลื่อนให้ลำปางเป็นเมืองสร้างสรรค์ เมืองแห่งการเรียนรู้ (Lampang Creative Learning City) ที่ได้รับการยอมรับจาก UNESCO ผ่านโครงการและงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและวิจัย ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 

หลายโครงการและงานกิจกรรมที่เกิดขึ้นในลำปางเองก็ต้องการกลุ่มคนสายงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์มาช่วยสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์และโฆษณาเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ก็ยังไม่สามารถจุดประกายให้เพิ่มการจ้างงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในพื้นที่ลำปางได้

พิโรดม จันทนะเสวี ผู้ก่อตั้งเพจ “Lampang Variety – ลำปางวาไรตี้ ข่าว,รีวิว”  แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นนี้ว่า ด้วยความที่บริบททางเศรษฐกิจของเมืองลำปางแตกต่างจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ที่มีแหล่งงานและความต้องการจ้างงานกลุ่มผู้ผลิตงานสร้างสรรค์เป็นจำนวนมาก แต่ลำปางยังขยายแหล่งงานเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวได้ยากด้วยข้อจำกัดเรื่องกำลังจ่ายของคน เลยมีผลต่อวงการผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ที่ไม่ขยายตัวตาม

“พอการขยายตัวของกลุ่มคนในวงการสื่อ กลุ่มครีเอเตอร์มาตันที่จุดนี้ เลยทำให้กลุ่มลูกค้าในลำปางที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อยมองว่าสื่อหรือกลุ่มคนครีเอเตอร์มีตัวเลือกให้ใช้งานเพียงเท่านี้ ถ้าเลือกใช้คนหรือทีมไหนแล้วผลงานออกมาน่าพอใจก็จะใช้คนหรือทีมนั้นไปตลอด  เป็นข้อกังวลที่อาจทำให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่อยากจะสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้กับเมืองลำปางเข้าไม่ถึงแหล่งงานหรือกลุ่มคนที่สามารถพาเราเข้าไปหาแหล่งงานที่เราต้องการ ก็ทำให้คนหรือสื่อหน้าใหม่ในลำปางที่เข้ามาช่วงหลัง ๆ แจ้งเกิดได้ยากเหมือนกัน”

ถ้าว่าตามบริบทเมืองเล็กอย่างลำปาง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นสิ่งสำคัญที่ปฏิเสธได้ยากว่าขาดไม่ได้ ทำให้คนทำงานแค่ทำงานเป็น ผลงานเด่นยังไม่พอ การเข้าสังคมหรือไปปรากฏตัวให้คนรู้จักตามงานกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีผลที่ทำให้กลุ่มคนที่เรามุ่งหวังให้เป็นลูกค้าในอนาคตได้นึกถึงเราเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยเช่นกัน  ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์อย่างพิโรดมเองได้รับโอกาสและมีงานเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าอาจมีบางเดือนที่งานเข้ามามากบ้าง น้อยบ้างก็ตาม

“ถ้าหวังพึ่งรายได้จากคอนเทนต์รีวิวอย่างเดียวยังไงก็ไม่พอ เพราะงานรีวิวที่เข้ามา 80-90% เป็นงานที่ลูกค้าเชิญให้มารีวิวโดยแลกกับที่พักฟรีบ้าง อาหารฟรีบ้าง ลูกค้าบางคนมีงบให้จำนวนหนึ่งพอเป็นค่าน้ำมันรถ แต่งานรีวิวจริง ๆ มีต้นทุนมากกว่านี้ เช่น กล้องถ่ายรูป เลนส์ แฟลช อุปกรณ์จัดแสงหรืออุปกรณ์ใด ๆ ล้วนมีค่าเสื่อมและซ่อมบำรุงตลอดเวลา คนที่มาช่วยงานเราไม่ว่าจะเป็นช่างภาพหรือนางแบบ เราก็ต้องมีค่าตอบแทนให้ ซึ่งต้นทุนที่ว่ามานี้คือการลงทุนด้วยตนเอง แต่ผลตอบรับที่ได้คือช่วยสร้างการรับรู้ให้แก่คนลำปางว่า นึกถึงคอนเทนต์รีวิวต้องติดตามเพจนั้นเพจนี้ ซึ่งพี่มองว่าคอนเทนต์รีวิวเป็นผลพลอยได้ที่ทำให้มีลูกค้ามาจ้างเป็นงานอื่นที่ใช้ทักษะเดียวกับการรีวิว เช่น งานถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ บางทีก็ไปเป็นมือปืนรับจ้างให้อีกทีมหนึ่งซึ่งสามารถเป็นรายได้จากอีกทางหนึ่ง แต่ถ้าเราอยากการันตีว่าจะอยู่รอดในสายงานนี้ก็ต้องรับงานอื่น ๆ ที่สามารถสร้างรายได้หลักที่ครอบคลุมรายจ่ายประจำเดือนด้วย”

“ถ้าพูดถึงรายจ่ายที่ไม่อยากให้มีเพราะจะไปกระทบต่อรายจ่ายอื่น ๆ คือค่ารักษาพยาบาล ยิ่งเป็นแรงงานที่ไม่มีประกันสังคมแล้วอาจทำให้เขาถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวเลยก็ได้ ถึงจะมีคนบอกว่าถ้าไม่มีประกันสังคมก็ควรจะซื้อประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตเองไปเลย แต่จำนวนเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายรายปี บางกรมธรรม์ต้องจ่ายเป็นสิบ ๆ ปีก็เป็นจำนวนเงินที่ต้องมีระยะเวลาตัดสินใจ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่าประกันดีอย่างนั้นอย่างนี้แล้วซื้อได้ทันที อย่างน้อยที่สุดถ้ารัฐมีสวัสดิการรองรับการเจ็บป่วยที่ดีกว่าบัตรทองก็ควรจะออกแบบให้แรงงานทุกรูปแบบเข้าถึงอย่างเท่าเทียม”

เช่นเดียวกับ ชญาดา ศรีมานิตรากูล ในฐานะผู้ประกอบการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวคือ ไม่ใช่แค่กลุ่มอาชีพผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ประเภทฟรีแลนซ์เท่านั้นที่ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐที่รองรับการเจ็บป่วย แต่ยังมีแรงงานนอกระบบอีกมากที่ยังไม่มีสวัสดิการส่วนนี้  ฟรีแลนซ์ผู้ผลิตงานสร้างสรรค์บางคนอาจมีรายได้มากพอที่สามารถทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตได้ แต่ถ้าจะให้แรงงานประเภทลูกจ้างรายวันวันละ 332 บาททำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตอาจเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่าด้วยรายได้รวมที่ไม่ครอบคลุมรายจ่ายจำเป็น

“ถ้ารัฐจะเข้ามาดูแลสวัสดิการแรงงานควรเน้นรองรับการเจ็บป่วยให้ได้เทียบเท่าประกันสุขภาพของเอกชน เพราะการรักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูง ถ้ารัฐสามารถจัดการส่วนนี้ได้ก็จะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทั้งแรงงานและนายจ้างไปได้มาก”

ปราณี รัตนพล ในฐานะผู้ประกอบการกล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้อีกว่า นายจ้างหรือเจ้าของกิจการเข้าใจดีว่าลูกจ้างมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ในเมื่อสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และกำลังซื้อขายของคนในลำปางทำให้ไม่สามารถขึ้นค่าแรงให้ครอบคลุมรายจ่ายประจำได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น หนทางที่นายจ้างหรือเจ้าของกิจการหลายคนพยายามช่วยเหลือลูกจ้างคือการช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทาง หรือหาที่พักให้ฟรี เพื่อว่าอย่างน้อยที่สุดก็ช่วยลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปได้บ้าง

เปลี่ยนพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นการสร้างแหล่งงานและจ้างงาน รองรับกลุ่มอาชีพผู้ผลิตงานสร้างสรรค์

ลำปางเป็นเมืองที่มีจุดเด่นทั้งด้านภูมิประเทศที่ตั้งที่เปรียบเสมือนกับไข่แดงของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สามารถหยิบยกทรัพยากรมาสร้างสรรค์เป็นงานสื่อสารความเป็นลำปางได้หลากหลายรูปแบบ เพียงแต่การขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจังหวัดลำปางในช่วงที่ผ่านมายังแก้ปัญหาตามความต้องการบางอย่างได้ไม่ดีพอ เพราะงานโครงการหรือกิจกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผ่านมายังถูกมองว่าสุดท้ายก็เป็นแค่การสาธิตหรือการแสดงบนเวที พองานจบแล้วก็คือจบตรงนั้นเลยโดยที่ไม่ได้คิดกันต่อว่า ผลที่ได้จากโครงการหรืองานกิจกรรมนี้จะสามารถสร้างงานรองรับคนทำงานกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ในลำปางที่ส่วนมากเป็นฟรีแลนซ์ได้อย่างไร

ชญาดา ศรีมานิตรากูล ในฐานะผู้ประกอบการร้านอาหารให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การสร้างแหล่งงานให้แก่คนสายงานครีเอเตอร์ควรเริ่มจากการมีพื้นที่ให้พวกเขาได้มาแสดงความสามารถและนำเสนอในสิ่งที่ตนต้องการส่งไปให้ถึงผู้จัดงาน ภาครัฐ หรือภาคธุรกิจในจังหวัดลำปาง โดยที่อาจยังไม่ต้องคิดถึงขั้นลำปางต้องเป็นเมืองเศรษฐกิจระดับเดียวกับเชียงใหม่ แต่จะทำให้เมืองรองมีคุณค่าได้อย่างไร และคนทำงานสร้างสรรค์สามารถอยู่ได้  ลำปางจะเป็นเมืองผ่านก็ได้  แต่ขอให้มีแรงดึงดูดที่ทำให้คนต้องแวะลำปางแล้วมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถเติบโตตามคุณค่าของลำปางได้ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบเงิน แต่อยู่ในรูปแบบการจ้างงานที่ขยายตัว การเกิดอาชีพใหม่ในลำปาง หรือการมีอัตราค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น

“จริง ๆ แล้วจังหวัดลำปางยังมีคุณค่าที่ถูกซ่อนเร้นอีกมากตามพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก มีสื่ออิสระในจังหวัดลำปางหลายสำนักที่พยายามลงพื้นที่เพื่อหยิบเรื่องราวจากคุณค่าดังกล่าวมาสื่อสารและนำเสนอต่อพื้นที่สาธารณะในลำปางเพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่สร้างโอกาสใหม่ ๆ แหล่งงาน การจ้างงาน อาชีพใหม่ เพียงแต่รัฐเองควรเข้ามาสนับสนุนเรื่องแหล่งทุน เพราะกลุ่มผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ในลำปางจำนวนหนึ่งได้พยายามสื่อสารจนสามารถยกระดับตนเองเป็นสื่ออิสระได้ แล้วสื่ออิสระเหล่านี้มีอิทธิพลมากพอที่สามารถชักจูงให้คนแวะมาเมืองรองอย่างลำปางด้วยคอนเทนต์ได้”

พิโรดม จันทนะเสวี  ให้ข้อเสนอแนะทิ้งท้ายว่า สื่อท้องถิ่น อินฟลูเอ็นเซอร์ บล็อกเกอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ประเภทอื่น ๆ หลายคนยังไม่รู้ว่าควรตั้งราคาค่าผลิตงานเท่าไรถึงจะอยู่ในระดับมาตรฐาน เพราะการตกลงราคากับลูกค้าในช่วงที่ผ่านมามักจะอาศัยความใกล้ชิดสนิทสนมคุยกัน ทำให้ผลกระทบที่ตามมาคือเรทราคาที่ได้อาจต่ำกว่าเรทมาตรฐานที่เคยได้รับ แล้วผู้ผลิตงานหน้าใหม่จะทำงานได้ยาก แต่ถ้าในอนาคตมีหน่วยงานจากภาครัฐหรือเอกชนมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเรทราคาค่าผลิตงานให้มีมาตรฐานกลางที่รับได้ทั้งฝั่งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมต่อคนทำงาน การถูกกดราคา และการถูกตัดราคาได้


อ้างอิงข้อมูลจาก

อาชีพ Content Creator คืออะไร ต้องเรียนสาขาไหน พร้อม 4 ขั้นตอนก้าวสู่อาชีพนักสร้างสรรค์สื่อ

ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาบนโลกออนไลน์:พัฒนาการและกลยุทธ์การสร้างสรรค์เนื้อหา

เรื่องเล่าการเรียนรู้ของฟรีแลนซ์ที่อยู่รอดทางอาชีพในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทย

จากพนักงานประจำสู่การเป็นฟรีแลนซ์ อะไรกำลังเกิดขึ้นกับตลาดแรงงาน

ส่องข้อมูลรายได้ “นักเขียน” ฟรีแลนซ์ในประเทศไทย


บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)


รัชชา สถิตทรงธรรม (เนย)

จาก กทม. สู่ลำปางและแพร่ ฟังเพลงอินดี้ คลั่งไคล้วัฒนธรรมชาติพันธุ์เพราะออกจากเฟรนด์โซนไม่ได้ มีร้านป้ายอดเป็นร้านประจำเพราะอยากเปิดร้านอาหารชาติพันธุ์

ชัยนิวัตร สิงห์สถิตย์ (เคน)

ว่าง ๆ ไปตกปลากัน เรื่องลาบไว้ใจผม

Similar Posts