1 เมษายน 2566

เช้าวันที่ 29 มีนาคม เราย้ายสถานที่มาเรียนรู้ที่ สวนบัว ย่านถนนเส้นวัฒนธรรมสันกำแพง รายล้อมด้วยต้นไม้เล็กใหญ่ ผศ. บรรจง สมบูรณ์ชัย และหมอต้นไม้ Happy Tree เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ มาชวนทำศัลยกรรมต้นไม้ ปิดบาดแผลและโพรง เรียนรู้วิธีการ อุปกรณ์ทำงานบนที่สูง  สำรวจระบบรากใต้ดินที่ตาเรามองไม่เห็น แต่เห็นได้ด้วยเครื่องสแกนความยาวรากไม้ 

“วันนี้แบ่งทีมกันนะคะ” วิทยากรกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมและชวนแบ่งกลุ่มตามแต่ละฐาน 

ฐานทดลองใช้เครื่องสแกนรากไม้ 

      รากไม้เปรียบเสมือนหัวใจที่มองไม่เห็นแต่สำคัญมาก ๆ การรู้ว่าระบบรากเป็นอย่างไร แผ่ทิศทางไปทางไหน จะทำให้รู้จักสุขภาพต้นไม้มากขึ้น ฉายผ่านความถี่บนหน้าจอ ยิ่งมีความถี่สูงเชื่อมติดกันมากเท่าไหร่ เป็นข้อสังเกตที่ดีว่าระบบรากแข็งแรก แผ่ขยายมากเป็นวงกว้างเท่านั้น

ผู้เข้าร่วมลองใช้เครื่องสแกนรากโดยไถรอบ 4 ทิศต้นไม้ ความถี่สูงเชื่อมต่อกัน นั้นคือรากไม้ 

ฐานศัลยแพทย์ต้นไม้ รักษาบาดแผลและโพรงโหว่ง 

ผศ.บรรจง สมบูรณ์ชัย สวมทุกมือ หยิบจับสารเคมีอย่างระมัดระวัง ค่อย ๆ บรรจงผสม โฟมเหลือใช้ น้ำยาทีละเล็กน้อย จู่ ๆ ฟองสีขาวก็ฟูขึ้นคล้ายวิปครีมใหญ่กว่าเดิม 20 เท่า นี้เป็นวิธีการสร้างเนื้อเทียมปิดโพรงบาดแผล เริ่มจากการตรวจสอบโพรงว่ามีสัตว์น้อยใหญ่อาศัยไหม ค่อย ๆ ตกแต่งเกลาโพรงจนถึงเนื้อไม้จริง จากนั้นถึงผสมน้ำยาใส่โพรงปิดไว้ 

 “แผลตัดที่ดีจะคล้ายรูปโดนัท สวย ๆ หากตัดไม่ดีจะโค้งคล้ายรูปเขาแกะ” ผศ.บรรจง กล่าว 

ทีมเรียนรู้เครื่องมือ อุปกรณ์การทำงานบนที่สูง 

อุปกรณ์วางเรียงรายเต็มพื้นที่ หมวก ชุดเต็มสูตร พี่ Happy Tree สาธิตวิธีการใส่อุปกรณ์อย่างค่อย ๆ เป็น ค่อยไป สอดแทรกเคล็ดลับ 1 2 3 4 และ 4 3 2 1 หมายถึง ใส่อะไรก่อน เวลาถอดถอดหลังสุด

หนุ่ย – วีระยุทธ์ เงินชุม Happy Tree กล่าวความรู้สึกต่อการอบรมหมอต้นไม้ครั้งนี้ว่า 

“ผู้เข้าร่วมให้ความสนใจมาก ตั้งใจ อยากจะศึกษา เลยอยากให้มีเวลาเรียนรู้มากขึ้น ดีใจเพราะมีหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่วยวข้องต่อเรื่องดูแลจัดการต้นไม้ในเมืองมาร่วมอบรม บ้างมาจากต่างจังหวัดด้วย เรื่องแบบนี้ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เรารอความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ การมีภาคประชาชนเข้ามาช่วยกันทำให้งานต้นไม้ในเมืองมันดีขึ้น” 

“ค่อย ๆ ถีบขาขึ้นไปแล้วดึงเชือกขึ้นนะครับ” 

 พี่ ๆ ต้นไม้ประกบผู้เข้าร่วม เน้นความปลอดภัยไว้ก่อน 

ชมจันทร์ ตาลคำมูล ประธานกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) กล่าวความรู้สึกตลอดช่วงการอบรมว่า “เข้าอบรมตั้งแต่วันแรก รู้สึกดีใจที่ได้เห็น เรียนรู้ ดูแลต้นไม้ อย่างเรื่องโพรงต้นไม้ แผล ดูแลแบบไหนให้สมบูรณ์ พอมาเห็นพื้นที่ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแล ร่วมมือกัน”

ต่อมา ในวันที่ 30 มีนาคม เวลาประมาณ 10.00 น. อาสาสมัครหมอต้นไม้ลงพื้นที่บนย่านถนนวัฒนธรรมสันแพง สำรวจประเมินสุขภาพกว่า 30 ต้น ด้วยกัน

การประเมินสุขภาพต้นไม้วันนี้เป็นการประเมินสุขภาพรวมภายนอก เริ่มจากวัดความสูง 

สำรวจการแตกแผ่ของลำกิ่งสาขา แผลโพรง และลักษณะของต้นฉำฉาที่แตกต่างกันไป 

ว่าแล้วก็ใส่หมวกนิรภัยพร้อมออกเดินทาง! 

นันทา เบญจศิลารักษ์ มูลนิธิสื่อประชาธรรม กล่าวว่า “การจะลงไปสำรวจ ควรทำงานสานสัมพันธ์กับชุมชน บอกที่มา ที่ไปของพวกเราเป็นเรื่องสำคัญ ว่าเราเป็นใคร และกำลังจะทำอะไร เพื่อบอกกล่าวกับชุมชน คนท้องถิ่นในพื้นที่ให้เขารับรู้ ” 

ต้นฉำฉาเรียงคู่สองข้างถนนสันกำแพง ที่หากไม่ได้รับความเอาใจใส่ดูแล 

ประเมินสุขภาพเป็นประจำ ก็อาจถูกทิ้งให้ป่วยเหมือนสุขภาพของเรา 

ณรงค์ฤทธิ์ ทายะ – รองปลัดเทศบาลตำบลสันกลาง ถ่ายทอดความรู้สึกช่วงอบรมว่า  

“ได้ความรู้ทั้งเรื่องวิชาการ ทักษะ เรียนรู้ลงมือทำจริง  ที่ไปประยุกต์ทำงานในขุมชนได้ การรักษาแผล โพรง ส่วนหนึ่งอาจจะนำไปสู่การจัดการแผนให้ต้นไม้ใหญ่อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเกื้อกูลกเป็นกรณี แต่ละพื้นที่ไป เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้มีเทศบาลยังไม่ได้มีแผนเกี่ยวกับต้นฉำฉามากนัก จะเน้นไปทำงานกับชุมชน และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า” 

เริ่มจากวัดความสูงของต้นไม้ จากนั้นสเกตภาพคร่าว ๆ ของลักษณะการยืนต้น 

เช็คว่าเจ็บป่วย มีแผลตรงไหน จากนั้นจึงคอยจดบันทึก 

ระหว่างการสำรวจเดินต้นไม้ บ้างเข้าไปสอบถามชุมชน ที่อาศัยร่วมหลังคาเดียวกับฉำฉา 

เต้ย – เจษฏาพงศ์ จินะจันตา วิศวกรไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า

ที่ได้สนใจเข้าร่วมการครั้งนี้ เพราะหน้างานดูแลเรื่องการจัดการงบประมาณ ตัดต้นไม้ใกล้แนวกันไฟ เต้ยกล่าวว่า ‘พอผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้กับหน่วยงานไปแล้ว การตัดต้นไม้ที่ผิดหลักรุกขกรรมอย่างที่เราเคยเห็นจึงอยู่เหนือการควบคุม ที่เน้นการจัดลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันคือ 1. ไฟฟ้าต้องดีก่อน 2.ปลอดภัยต่อคนสัญจรไปมา และ 3. ถึงจะพิจารณาดูต้นไม้” 

เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจถึงจัดเรียงลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน เมื่อเทียบกับหน่วยงาน เครือข่าย ภาคประชาชนที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมเมือง 

“หลักจากการอบรม ความรู้ต้นไม้ของผมเป็นศูนย์เลย เมื่อก่อนเข้าใจว่ายิ่งตัดมากยิ่งดี เอาสั้นไว้ก่อน เป็นการเรียนรู้ครั้งแรก คิดว่าการทำ TOR เพิ่มขึ้น ระบุเรื่องการดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ การไฟฟ้ามีการทำงานร่วมกันหลายสาขา เครือข่าย เป็นข้อเสนอในที่ประชุมร่วมกัน” เต้ยกล่าวทิ้งทาย 

มาลองฟังเสียงจากเยาวชน บีม –  ที่เอ่ยว่านี้เป็นการเรียนรู้การเป็นหมอต้นไม้ครั้งแรกของเธอ 

“รู้สึกว่าค่อนข้างสนุก อาจจะมีน่าเบื่อบ้างนิดนึง แต่ใช้งานได้ ทำให้เรามาวิเคราะห์ต้นไม้สำคัญอย่างไรกับชุมชน ต้นไม้สำคัญอย่างไรกับปอดของเรา พอมาอบรมก็เริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลต้นไม้มากขึ้น คิดว่าการเป็นหมอต้นไม้ รุกขกร เราเคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่มาอบรมก็เห็นรายละเอียดมากขึ้น อยากให้เมืองเชียงใหม่มีหมอต้นไม้ ต้นไม้มในเมืองจะได้สวยงาม อยากให้คนรู้จักรุกขกรมากขขึ้น” บีมกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใส 

วันสุดท้าย วันแห่งการประมวลผลและนำเสนอ 

เช้าวันนี้เป็นการเตรียมข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ มานำเสนอของแต่ละกลุ่ม 

กลุ่ม TREE เริ่มนำเสนอด้วยการ เปิดวิดีโอเส้นทางของต้นฉำฉาบนถนนสันกำแพง และเริ่มเล่าถึงข้อมูลต้นฉำฉา หมายเลขที่ 52 – 72 มีการสเกตภาพต้นฉำฉา และเล่าสภาพของต้นฉำฉา เกณฑ์การประเมิน ความเสี่ยงโดยภาพรวม ในวงมีการสะท้อนว่ากลุ่มนี้เก็บข้อมูลละเอียด เนื่องจากมีการแบ่งงานกันที่ชัดเจน และวางแผนกันตั้งแต่เริ่มต้น และมองว่าเราเห็นว่าทุก ๆ ต้นมีลักษณะการตัดแต่งที่หลบสายไฟฟ้าเป็นหลัก กลุ่มจึงมองว่าเมื่อเรามีความรู้ในการตัดแต่งแล้ว อยากให้คำถึงถึงเรื่องสุขภาพของต้นไม้ในการตัดแต่งแบบหลบสายไฟฟ้าด้วย

กลุ่ม DOC แบบประเมินสุขภาพ มาตรฐานประเมินความทรุดโทรม ต้นแรกคือต้นที่ 74 – 94 และพูดถึงสภาพของต้นไม้ การตัดแต่ง ประเมินผลโดยภาพรวม ถ้าเปรียบต้นไม้เหมือนสุขภาพคน ก็เหมือนกัน คนที่ดูภายนอกเหมือนแข็งแรง แต่พอไปตรวจแล้วกลับมีโรคต่าง ๆ เกิดขึ้น ดังนั้น การตรวจสุขภาพต้นไม้ ก็ต้องดูอย่างละเอียดเช่นกัน สรุปว่าประเมินก็เหมือนการประเมินสุขภาพคน การเห็นภายนอก การรู้สรีระต้นไม้เบื้องต้น ความรู้ในเรื่องพฤกษศาสตร์เลยสำคัญในการตรวจสุขภาพ สิ่งที่จะช่วยได้มาก ๆ คือการลองทำบ่อย ๆ จะสามารถประเมินได้ถูกต้อง 

“การใช้แบบฟอร์ม มันประกอบกับประสบการณ์ด้วย การมีภาพประกอบในแบบฟอร์มจะสามารถช่วยได้มากขึ้น” ผศ.เยาวนิตย์ ธาราฉาย เสริม

และสุดท้าย กลุ่ม TOR หมายเลข 96 – 116 เราจะวางแผนแบ่งงานกันทำคนละต้น กลุ่มนี้มีความเห็นทางสังคมของคนในพื้นที่ ทั้งคนที่เป็น พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ใต้ต้นฉำฉา ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ในสันกำแพง และคนที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในสันกำแพง แต่ละคนมีความคิดเห็นว่า ต้นฉำฉามีความร่มรื่น เป็นร่มเงา สำหรับร้านค้า และใบฉำฉาสามารถนำมาทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ได้ และมองว่า มีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน และไม่มีการคุยกัน แต่ละกลุ่มมีการทำงานที่แยกส่วนกัน 

บรรจงทิ้งท้ายว่า ถ้าเราสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในงานที่ทำอยู่ หรือยิ่งกว่านั้นคือการเผยแพร่ความรู้ ไปกับผู้อื่นต่อไปได้ 

Similar Posts