เรื่อง: รัชชา สถิตทรงธรรม

ภาพ: มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง, เพจ “ตะลอนตะหลอด : ชาติพันธุ์ลำปาง-แพร่”

ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมงานกิจกรรมสำคัญในเมืองลำปางหลายแห่ง รวมถึงการใช้ช่วงเวลาเย็นของสุดสัปดาห์ไปกับการเดินถนนคนเดินกาดกองต้าและถนนสายวัฒนธรรมย่านชุมชนท่ามะโอ  ได้พบความแปลกใหม่อย่างหนึ่งคือมีกลุ่มคนราว 40-60% ของจำนวนผู้มาเที่ยวชมงาน สวมชุดพื้นเมืองโทนสีแดงอมชมพูคล้ายโทนสีของเค้ก Red Velvet ที่วางขายตามร้านคาเฟ่หรือเบเกอรีต่าง ๆ

แม่สมพร ใจคำ บ้านทุ่งฮี อ.วังเหนือ จ.ลำปาง

“สีแบบนี้เรียกว่าสีครั่ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากโครงการวิจัยของ อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง และสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ให้ลำปางเป็นเมืองหลวงแห่งผ้าครั่ง โดยมีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปางเป็นแม่งาน แม่สมพร ใจคำ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฮอมฮักผ้าทอทุ่งฮี อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง หนึ่งในผู้ออกบูธแสดงสินค้าตามงานกิจกรรมต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง ได้อธิบายต่อผู้เขียนที่กำลังสงสัยในความแปลกใหม่ดังกล่าว

ผู้เขียนจึงได้กลับไปสืบค้นที่มาที่ไปของผ้าสีย้อมครั่งลำปาง อภิชัย สัชฌะไชย ผู้ประกอบการโรงงานครั่งนอร์ทเทอร์นสยามซีดแล็คในจังหวัดลำปาง เคยให้สัมภาษณ์ต่อรายการ ที่นี่บ้านเรา ตอน ลำปาง “ครั่ง” รักษ์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เกี่ยวกับภาพรวมของครั่งในจังหวัดลำปางว่า ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดลำปางเพาะเลี้ยงครั่งมาเป็นเวลานานกว่า 20 – 30 ปีแล้ว แต่เพิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นจนเกิดเป็นการเพาะเลี้ยงเชิงเกษตรเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ในหลายพื้นที่มีราคาตกต่ำและให้ปริมาณไม่เพียงพอที่จะส่งออกตามท้องตลาดได้

ประกอบกับเมื่อช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องการรับซื้อครั่งจำนวนมาก ทำให้ครั่งมีราคาสูง เกษตรกรบางส่วนจึงเริ่มทดลองปล่อยพันธุ์ครั่งบนต้นฉำฉา (จามจุรี) และต้นลิ้นจี่ ปรากฏว่าได้ผลผลิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีการประชาสัมพันธ์ออกไปตามสื่อต่าง ๆ ปรากฏว่ามีทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา และผู้ประกอบการเข้ามาสนับสนุนด้านการรวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงครั่งภายในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้การเพาะเลี้ยงครั่ง การแปรรูปครั่งที่เหมาะสมกับวิถีหรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในพื้นถิ่น ก่อนที่จะขยายผลไปยังชุมชนข้างเคียงในโอกาสต่อมา

“ปัจจุบันจังหวัดลำปางส่งออกครั่งเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับ 2 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 900 – 1,000 ล้านบาทต่อปี ภาครัฐจึงเริ่มเข้ามาส่งเสริมให้ครั่งเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” อภิชัยกล่าวโดยผู้เขียนสามารถอนุมานได้ว่า ครั่งไม่เพียงแต่ให้ผลผลิต แต่ยังสามารถนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องตลาดได้อีกด้วย

ทำไมลำปางต้อง “ครั่ง”

“ครั่ง” เป็นแมลงจำพวกเพลี้ยที่ขับสารชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นเหมือนยางหรือชันออกมาไว้ป้องกันตัวเองจากศัตรู ซึ่งสารที่ขับถ่ายออกมานี้เรียกว่า “ครั่งดิบ” ที่มีสีแดงม่วง ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองแก่ หรือยางสีส้ม โดยครั่งจะขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพอากาศเย็นและมีปริมาณความชื้นสูง แต่ไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อน ซึ่งมนุษย์ได้นำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคโลหิตจาง โรคลมขัดข้อ เป็นต้น นอกจากนี้ในภาคอุตสาหกรรมยังมีการนำไปใช้ทำเชลแล็ก แลกเกอร์ เครื่องใช้ เครื่องประดับหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงนำไปทำสีย้อมผ้า

คนลำปางอีกจำนวนมากอาจยังไม่รู้ว่า จังหวัดลำปางเป็นแหล่งเพาะครั่งที่มีคุณภาพระดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งบนพื้นที่สูงและพื้นราบ โดยมีแหล่งเพาะเลี้ยงครั่งในเชิงเกษตรที่สำคัญคือ อำเภอวังเหนือ อำเภองาว และอำเภอเสริมงาม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเย็นและมีปริมาณความชื้นมากพอที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของครั่ง ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมจะนิยมนำครั่งไปแปรรูปเป็นแลกเกอร์ สีผสมอาหาร ยารักษาโรคตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน และสีย้อมผ้าอันเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่เกิดขึ้น

การแปรรูปครั่งเป็นสีย้อมผ้าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2565 ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง ได้นำเสนองานวิจัย “ขับเคลื่อนลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ (Lampang Learning City)” โดยในงานวิจัยดังกล่าวมีหัวข้อที่น่าสนใจคือ ลำปาง เมืองหลวงแห่งครั่ง

ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง

“เราค้นพบว่าน้ำล้างครั่งที่เหลือจากกระบวนการแปรรูปของโรงงาน ซึ่งกลายเป็นน้ำเสียที่ระบายลงท่อระบายน้ำ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณข้างเคียง จุดนี้เองทำให้ผู้ประกอบการโรงงานหลายแห่งมองว่าน้ำล้างครั่งน่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นต่อได้และเริ่มทดลองนำน้ำล้างครั่งมาสกัดเป็นผง ซึ่งผงครั่งที่ได้จากกระบวนการนี้กลายเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งออกได้” ดร.ขวัญนภา เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของงานวิจัยลำปาง เมืองหลวงแห่งครั่ง

“โรงงานส่งออกผงครั่ง 100% ส่วนมากเป็นลูกค้าญี่ปุ่นซื้อไปย้อมผ้ากิโมโนระดับพรีเมียม บางประเทศซื้อไปเป็นสีผสมอาหาร พอเราย้อนกลับมามองลำปางบ้านเราแล้วรู้สึก “เอ๊ะ” แล้วลำปางเราจะยอดจุดเด่นตรงนี้อย่างไร จึงนำไปสู่แนวคิดการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่มองจุดเด่นที่มีอยู่ประกอบการปัญหาและความต้องการที่มีอยู่ ลำปางเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมีการต่อยอดงานในหลากหลายมิติ แต่ถ้ามีคำถามเรื่องความโดดเด่นเรื่องผ้าพื้นเมืองก็จะใช้เวลาคิดนานหน่อย แล้วอะไรคืออัตลักษณ์ที่เห็นแล้วจำได้ทันทีว่านี่คือผ้าของลำปาง จึงนำไปสู่การกำหนดภาพอนาคตร่วมกันถ้าเราผลักดันผ้าย้อมสีครั่งเป็นสีอัตลักษณ์ของลำปางเมื่อไหร่ที่คิดถึงผ้าย้อมสีธรรมชาติ ผ้าพื้นที่เมืองผ้าย้อมครั่งลำปางต้องเป็นที่รู้จักและพูดถึง ถ้านึกถึงแพร่ต้องผ้าหม้อห้อม สกลนครต้องผ้าย้อมครามและลำปางต้องเป็นผ้าย้อมครั่ง อาจารย์ในฐานะคนที่สนใจและทำผ้าพื้นเมืองมา 20 กว่าปีจึงต้องตั้งคำถามในใจว่า “ทำไมลำปางจะมีผ้าย้อมครั่งไม่ได้” เพื่อลำปางจะสามารถชูผ้าย้อมครั่งให้เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์เมือง และจากนี้จะขับเคลื่อนร่วมกันอย่างไรเพื่อให้เกิดภาพอย่างที่เราอยากเห็นร่วมกัน นี่จึงเป็นคำถามในการจุดประกายในการเริ่มต้น” ดร.ขวัญนภากล่าว

ปล่อยครั่งไม่ติดเพราะอากาศร้อน ลำปางขาดอัตลักษณ์ผ้าพื้นเมือง สองประเด็นที่ผู้เขียนยกมาถือเป็นปัญหาสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพราะเป็นปัญหาที่มักจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นดราม่าบนพื้นที่แสดงออกทางความคิดเห็นของคนลำปางอยู่เสมอว่า ลำปางจะหมุนตามกาลเวลากี่โมง แล้วครั่งจะช่วยตอบคำถามสุดคลาสสิกของลำปางได้อย่างไร

ลำปาง “ครั่ง” แล้วใครได้

“ลำปางจะหมุนตามกาลเวลากี่โมง” อาจยังเป็นคำถามที่ตอบได้ยากในตอนนี้ แม้ว่าในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมาจะเริ่มมีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนและพร้อมจะผลักดันให้ผ้าสีย้อมครั่งเป็นอัตลักษณ์แห่งลำปางไปด้วยกันจากผลงานของทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปางที่จับต้องเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน แต่โดยภาพรวมการขับเคลื่อนผ้าครั่งตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันยังมีหลายข้อสังเกตที่น่าสนใจและชวนค้นหาคำตอบว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

“ทำไมคนที่สวมชุดผ้าสีย้อมครั่งถึงมีแต่กลุ่มกิจกรรมหรือชนชั้นนำทางสังคม (Elite) ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาครัฐ” ผู้เขียนค้นพบข้อสังเกตนี้จากการไปร่วมงานกิจกรรมในลำปาง 2–3 งานเมื่อช่วงก่อนสิ้นปี 2566 จนถึงเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา และได้สอบถามประชาชนทั่วไปที่มาเดินเที่ยวชมงานกิจกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวว่ารู้จักผ้าครั่งลำปางหรือไม่ ผู้เขียนสามารถสรุปแนวคำตอบจากการให้สัมภาษณ์ของประชาชนออกเป็น 6 ข้อดังนี้

  • “จริง ๆ ก็เริ่มสงสัยตั้งแต่ปีที่แล้ว (2566) ว่าทำไมเพื่อนที่ทำงานรับราชการถึงสวมใส่เสื้อพื้นเมืองสีนี้เป็นประจำทุกวันอังคาร แล้วพอไปเจอเพื่อนออกงานอีเวนต์ในลำปางกี่งาน ๆ เพื่อนคนนี้ก็สวมชุดพื้นเมืองสีนี้ทุกงาน เรารู้สึกว่าโทนสีน่ารักดีและยังไม่เคยเห็นในลำปางมาก่อน ก็เลยรู้สึกเอ๊ะขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า ที่ผ่านมาลำปางยังไม่เคยมีสีผ้าพื้นเมืองประจำจังหวัดอย่างจริงจังเลย ซึ่งเรามองว่าแคมเปญสีผ้าย้อมครั่งลำปางที่รัฐกำลังขับเคลื่อนในตอนนี้ ต่อจากนี้จะต้องทำอย่างไรให้คนลำปางหันมาสวมใส่ผ้าย้อมครั่งจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ได้เกิดจากการขอความร่วมมือหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ”
  • “รู้จักและเคยซื้อผ้าทอกะเหรี่ยงสีย้อมครั่งจากหมู่บ้านที่เสริมงามแล้วใส่ไปเที่ยวหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่เชียงราย พี่น้องกะเหรี่ยงที่นั่นก็ชมว่าสีสวย อยากรู้ว่าต้องย้อมยังไง จะได้เอาครั่งที่ปล่อยไว้ในหมู่บ้านมาลองย้อม ถ้ามี workshop ย้อมสีครั่งที่ลำปางขอให้ส่งข่าวบอกกันนะ”  
  • “รู้จักผ้าครั่งจากการประชาสัมพันธ์ของสื่อโซเชียล ครั้งแรกที่เห็นรู้สึกว่าเป็นผ้าที่มีสีสวยมากและไม่เคยเห็นในลำปางมาก่อน แต่พอจะไปซื้อกลับรู้สึกว่าทำไมผ้าครั่งมีราคาแพงเมื่อเทียบกับผ้าหม้อห้อมที่ซื้อจากแพร่ เพราะดูจากเรทราคาแล้วเหมือนจะมีแต่คนมีสตางค์เท่านั้นที่ซื้อได้”
  • “เรื่องผ้าครั่งราคาแพงจริง ๆ ถ้าเป็นคนที่พร้อมจ่ายเขาก็ไม่ติดอะไรนะ เพียงแต่คนขายไม่ว่าจะย้อม ทอ หรือเย็บปักลาย ควรจะอธิบายให้คนซื้อเข้าใจว่า ในการย้อมครั่งต่อผ้าหนึ่งผืนมีต้นทุนอะไรบ้าง แล้วสมเหตุสมผลกับราคาที่ตั้งอย่างไร”
  • “ไม่รู้จักและไม่ได้รู้สึกตื่นตัวกับผ้าครั่งเป็นพิเศษ เพราะส่วนตัวมองว่าเป็นอัตลักษณ์ใหม่ทางวัฒนธรรมที่เพิ่งสร้าง โดยที่ไม่ได้ถูกปลูกฝังจากคนรุ่นก่อน ซึ่งแตกต่างจากรถม้าหรือถ้วยชามเซรามิกที่เรารู้จักและคุ้นเคยเหมือนเป็นชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดแล้ว”
  • “จะให้ไปรู้จักได้ยังไง ในเมื่อลำปางมีอะไรใหม่ ๆ หรือจะจัดงานอีเวนต์อะไรก็เหมือนทำเพื่อละลายงบ มีแต่คนกันเองที่เข้าถึงอะไรแบบนี้ เพราะลำปางไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์หรือโปรโมทแบบทุ่มสุดตัวไปเลยว่า ทำไมนึกถึงลำปางต้องนึกถึงผ้าสีย้อมครั่ง แล้วพอชาวบ้านธรรมดาอย่างเราอยากจะไปเดินเที่ยวซื้อของในงานแบบนี้ แค่บรรยากาศทางเข้างานก็ดูไม่เวลคั่มชาวบ้านตาสีตาสา แล้วยังจะมาบอกว่าคนลำปางไม่เคยสนับสนุนอะไรใหม่ ๆ ได้อีกเหรอ”

จากแนวคำตอบทั้ง 6 ข้อได้สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมจากคนลำปางที่มีต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมใหม่อย่างผ้าครั่งทั้งประโยชน์ที่คนลำปางจะได้รับ ความคาดหวังที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดลำปาง ข้อสังเกตและข้อกังวลต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มชนชั้นทางสังคมกับชนชั้นกลางลงไปจากการพยายามสร้างภูมิปัญญาผ้าสีย้อมครั่งให้เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของลำปาง ซึ่งหากมองตามความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายที่อัตลักษณ์ใหม่อย่างผ้าสีย้อมครั่งจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมเทียบเท่ากับผ้าหม้อห้อมหรือผ้าย้อมครามในช่วงเวลาอันสั้นได้ เพราะกว่าที่ผ้าหม้อห้อมหรือผ้าย้อมครามจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างจนรัฐบาลเศรษฐาต้องลิสต์รายชื่อเป็นหนึ่งในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะถูกต่อยอด ผลักดันให้เป็น Soft Power ของไทย ภูมิปัญญาเหล่านี้ย่อมต้องถูกออกแรงช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ในสังคมระดับประเทศนานนับทศวรรษเหมือนกัน

ดร.ขวัญนภาเองก็ได้ให้ความคิดเห็นต่อข้อสังเกตดังกล่าวอีกว่า ความคิดเห็นจากประชาชนเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการวิจัยเพื่อศึกษาและพัฒนาผ้าครั่งได้เป็นอย่างมาก โดยสิ่งสำคัญที่สุดของการเริ่มต้นคือกระบวนการสร้างการรับรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมในการจัดการองค์ความรู้และพัฒนา ดังนั้นในการขับเคลื่อนเราเริ่มต้นจากลงพื้นที่ 13 อำเภอว่าแต่ละพื้นที่มีภูมิปัญญาเดิมอะไรบ้างและเราจะช่วยเติมเต็มในส่วนใหน การย้อมการทอในบางพื้นที่มีอยู่แล้วและถ้าเราจะเพิ่มตัวใหม่เข้าไปเราจะต้องหาจุดร่วมอย่างไร สิ่งที่พื้นที่ทำอยู่เดิมที่ดีแล้วก็จะต่อยอดอย่างไร เช่น เรื่องคุณภาพมาตรฐานการย้อม การออกแบบ การตลาดและที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วนมาร่วมในการพัฒนาและร่วมขับขับเคลื่อนในแต่บทบาทที่รับผิดชอบเป้าหมายสำคัญที่สุดคือความยั่งยืน ดังนั้นจึงเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลากลไกในการขับเคลื่อนการเชื่อมในทุกระดับ

“จากข้อสังเกตไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาแพง หรือคนระดับชาวบ้านรู้สึกเข้าไม่ถึง เป็นงานอีเวนต์งานตอบสนองเฉพาะกลุ่ม ในมิติของการพัฒนาเราก็ต้องหาวิธีการในการพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของสิ่งที่เราต้องทำแต่มิติของภาพลักษณ์หรือผลที่เกิดขึ้นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมร่วมกันเพราะอาจารย์เชื่อว่าทุกฝ่ายที่นำสิ่งที่เราทำกันอยู่ไปต่อยอดไม่ว่าจะในรูปแบบใหนก็คงเป็นเป้าหมายเดียวกันที่จะช่วยพัฒนาให้ดีขึ้น อย่างน้อยกิจกรรมที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาก็สร้างกระแสการรับรู้ผ้าย้อมครั่งลำปาง แต่ปัญหาก็คงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายต้องนำมาพิจารณาในการพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป” ดร.ขวัญนภากล่าว

ทำอย่างไรให้ทุกคน “ครั่ง” เหมือนกัน

ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามคณะทำงานของ ดร.ขวัญนภา ไปยังบ้านทุ่งฮี อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีกลุ่มผ้าพื้นเมืองของแม่สมพรที่บุกเบิกแนวคิดผ้าสีย้อมครั่งมาด้วยกันตั้งแต่ต้น ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้มีความน่าท้าทายที่น่าสนใจว่า ทำอย่างไรให้กลุ่มผ้าพื้นเมืองในจังหวัดลำปางที่กระจายตัวไปตาม 13 อำเภอมีความรู้สึกร่วมและคิดเหมือนกันกับการเข้ามาของผ้าสีย้อมครั่ง

“จริง ๆ ที่บ้านทุ่งฮีมีการเลี้ยงครั่งบนต้นฉำฉาและย้อมผ้าสีครั่งมานานแล้ว พอมีงานวิจัยของ ดร.ขวัญนภาเข้ามาหนุนเสริมได้ 2 ปีกว่าทำให้เรามีทิศทาง มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น ชาวบ้านมีกำลังใจที่จะเลี้ยงครั่งบนต้นฉำฉาอย่างจริงจังมากขึ้น กลุ่มทอผ้าของแม่พรก็มีผลผลิตจากในบ้านเรารองรับ ทำให้ภูมิปัญญาครั่งที่บ้านทุ่งฮีเข้มแข็งตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ กลายเป็นองค์ความรู้ไปช่วยหนุนเสริมงานวิจัยและสามารถถ่ายทอดไปยังกลุ่มผ้าพื้นเมืองตามอำเภอต่าง ๆ ได้” แม่สมพรกล่าว

เมื่อตั้งต้นจากองค์ความรู้เรื่องการย้อมสีครั่ง แม่สมพรกับดร.ขวัญนภาจึงร่วมกันเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวและทำความเข้าใจกับกลุ่มผ้าพื้นเมืองในอำเภออื่น ๆ ว่าทำไมจังหวัดลำปางต้องมีผ้าย้อมครั่ง

“อาจารย์บอกตรง ๆ ใน 13 อำเภอไม่มีที่ไหนที่อาจารย์ไปแล้วเขาจะปิดประตูใส่เราเลย” ดร.ขวัญนภาพูดถึงผลตอบรับจากกลุ่มผ้าพื้นเมืองในจังหวัดลำปาง

ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจต่อผลตอบรับที่ได้มาเหมือนกันทุกอำเภอ เพราะจากการศึกษาและวิเคราะห์บริบททางประวัติศาสตร์เมืองลำปางพบว่า คนลำปางมีความเป็นท้องถิ่นนิยม (Localism) สูงพอสมควร หมายความว่าพวกเขาจะสนใจแต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ของตนเอง ไม่ได้อินกับทุกอย่างในจังหวัดลำปาง ผู้เขียนจึงได้ตั้งคำถามต่อ ดร.ขวัญนภาไปอีกว่า พวกเขาเปิดใจรับแนวคิดผ้าย้อมครั่งตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปพบปะกันได้อย่างไร

“เราไม่ได้ไปบอกว่าต้องทำตามที่เราถึงถูกที่สุด แต่ให้ค้นหาจุดเด่นของพื้นที่ว่ามีภูมิปัญญาเรื่องการย้อมผ้า ทอผ้า หรือปักลายผ้าอย่างไร ก็ให้เขาคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านั้นต่อไป เพียงแต่เรานำทางเลือกใหม่อย่างผ้าครั่งไปนำเสนอ รับฟังความต้องการของพื้นที่ แล้วต่างฝ่ายต่างมาแชร์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน พื้นที่ก็จะสามารถตอบเราได้ว่าผ้าครั่งลำปางจะตอบโจทย์ให้กับภูมิปัญญาที่เขามีอยู่แล้วได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง” ดร.ขวัญนภาเล่ากระบวนการสร้างความเข้าใจ

ผลตอบรับดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การเข้ามาของผ้าครั่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภูมิปัญญาผ้าพื้นเมืองของแต่ละกลุ่มที่ทำกันอยู่แล้ว ในทางกลับกันยังมองว่าเป็นการเพิ่มสีสันและทางเลือกในการเลือกซื้อผ้าพื้นเมืองให้แก่ลูกค้า และช่วยกันสร้างภาพจำให้เป็นภาพเดียวกันว่า ผ้าครั่งคือจังหวัดลำปาง ไม่ใช่แค่เมืองลำปาง

ชลนัฐ มัชชะ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฮักทอบ้านสบลืน อำเภอวังเหนือ และ สุทธิพร บุตรปะสะ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำมอญแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน ได้ให้ความเห็นต่อผ้าสีย้อมครั่งไปในทางเดียวกันว่า ผ้าครั่งลำปางไม่ใช่แค่เรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่จดจำง่าย แต่ยังหมายถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่แต่ละชุมชนจะได้รับและต้องคว้าเอาไว้ เพราะถ้าในอนาคตมีความต้องการซื้อผ้าครั่งจากจังหวัดลำปางที่สูงขึ้นนั่นก็หมายความว่า ชุมชนจะมีโอกาสทั้งอาชีพและรายได้ ถ้ามีการส่งเสริมครั่งตั้งแต่การเพาะเลี้ยง แปรรูป ไปจนถึงการจัดแสดงขายตามท้องตลาด

ชลนัฐ มัชชะ บ้านสบลืน อ.วังเหนือ จ.ลำปาง
สุทธิพร บุตรปะสะ บ้านศรีดอนมูล ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง

พลอย กาวิโล กลุ่มทอผ้าชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) บ้านโป่งน้ำร้อนที่อำเภอเสริมงาม ได้อธิบายภูมิปัญญาผ้าพื้นเมืองดั้งเดิมของตนว่า พี่น้องกะเหรี่ยงจะมีภูมิปัญญาการทอผ้าและย้อมสีจากธรรมชาติอยู่แล้ว สีครั่งจึงเข้ามาเพื่อเพิ่มเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของสีธรรมชาติที่มีอยู่และเสื้อย้อมสีครั่งที่สวมใส่ เวลาที่ออกไปพบปะคนข้างนอกก็สามารถบอกได้อย่างภาคภูมิใจว่าเสื้อทอกะเหรี่ยงสีครั่งคือพี่น้องกะเหรี่ยงจากจังหวัดลำปาง

พลอย กาวิโล บ้านโป่งน้ำร้อน อ.เสริมงาม จ.ลำปาง

เช่นเดียวกับ วนิดา สัตยานุรักษ์ พี่น้องไทลื้อตำบลกล้วยแพะในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ได้พูดถึงผลตอบรับหลังจบการแสดงขบวนฟ้อนหมู่ไทลื้อผ้าครั่งที่งานกิจกรรมหนึ่งว่า หลายคนที่มาชมการแสดงเข้ามาชื่นชมว่าผ้าครั่งสีสวยและสามารถหาซื้อได้ที่ไหน และถ้ามีงานแสดงครั้งต่อไปไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ตนจะพยายามเชิญชวนให้พี่น้องไทลื้อที่กล้วยแพะร่วมกันสวมใส่ผ้าสีครั่ง เพื่อจะได้ให้พี่น้องไทลื้อที่มาจากจังหวัดอื่นได้จดจำง่ายขึ้นว่า นี่คือไทลื้อจากลำปาง

ในขณะที่มีบางพื้นที่ในจังหวัดลำปางที่ยังไม่เคยมีกลุ่มผ้าพื้นเมืองอย่างอำเภอห้างฉัตร พิศอำไพ สมความคิด ผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งบ่อแป้น อำเภอห้างฉัตร ได้กล่าวถึงผลตอบรับจากการร่วมกิจกรรม workshop ผ้าย้อมครั่งในอำเภอห้างฉัตรร่วมกับคณะทำงานของ ดร.ขวัญนภาว่า ตนมองเรื่องนี้ในฐานะผู้นำชุมชนที่ต้องดูแลลูกบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การมีกิจกรรมย้อมสีครั่งจึงได้เข้ามาช่วยหนุนเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุที่ตนทำอยู่แล้ว ซึ่งสังคมผู้สูงอายุตามชุมชนกำลังเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของจังหวัดลำปางด้วยเป็นจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ตนจึงมองว่ากิจกรรมย้อมสีครั่งน่าจะช่วยให้ผู้สูงอายุในชุมชนลดความง่อมเหงาไปได้ระดับหนึ่ง เพราะเป็นกิจกรรมใหม่ที่ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกร่วมกัน ผู้สูงอายุก็จะมีความสุขจากการมีกิจกรรมที่ได้ลงมือทำและพูดคุยกับเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกัน   

ผู้เขียนสามารถสรุปข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการผ้าพื้นเมืองตามอำเภอต่าง ๆ ได้ว่า แม้ลำปางจะมีจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งการเข้ามาของผ้าครั่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการผ้าพื้นเมืองได้มองเห็น “จุดร่วม” ในภาพจังหวัดลำปางทั้งด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เพราะการขับเคลื่อนจังหวัดลำปางในช่วงเวลาที่ผ่านมายังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำและขาดการเชื่อมโยงต่อกันและกัน ดังนั้น ผ้าครั่งจึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถเชื่อมประสานอัตลักษณ์ผ้าพื้นเมืองจากอำเภอต่าง ๆ ให้มองเห็นและโฟกัสจุดหมายร่วมกัน

อนาคตลำปาง “ครั่ง” ให้ได้คลั่งไคล้อย่างทั่วถึงทุกคน

“ถ้าอยากให้ผ้าครั่งลำปางไปได้ไกล” ต้องมองในเชิงระบบเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และคงไม่มองเฉพาะพื้นที่แต่ต้องยกระดับแบรนด์ผ้าครั่งจากท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล Local to Global

ดร.ขวัญนภายังได้กล่าวถึงภาพอนาคตของลำปางเมืองหลวงแห่งครั่งต่อไปอีกว่า วันนี้เริ่มมีพลวัตทางสังคมเกิดขึ้นจากจุดเล็ก ๆ แล้วคือทุกภาคส่วนในจังหวัดลำปางให้ความสนใจรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมของการย้อมครั่งลำปางเริ่มรณรงค์ให้บุคลากรในสังกัดของตนสวมใส่ผ้าพื้นเมืองสีครั่งอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ของการทำงาน รวมไปถึงตามโอกาสหรืองานกิจกรรมสำคัญทางวัฒนธรรม แม้ว่าวันนี้ผ้าครั่งอาจเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปยังรับรู้ได้ไม่ทั่วถึง แต่การมีคนกลุ่มหนึ่งสวมใส่ผ้าครั่งให้ทุกคนได้เห็นแล้วอย่างน้อยที่สุดคือมีคนเข้ามาถามด้วยความสนใจ แสดงว่าอัตลักษณ์ใหม่ของลำปางกำลังทำงานตามกลไกสร้างการรับรู้ (Awareness) ต่อผู้คนและสังคมในเมืองหรือชุมชนแล้ว

“ถ้าภาครัฐทุกหน่วยงานหรือองค์กรส่งสัญญาณมาพร้อมกันว่าพร้อมที่จะขับเคลื่อนผ้าครั่งลำปางไปด้วยกัน อย่างแรกที่ต้องทำคือต้องให้ผ้าครั่งลำปางเป็นวาระแห่งจังหวัดเพื่อออกแบบการทำงานบูรณาการ เราก็จะไม่ได้เชื่อมโยงระหว่างกันแค่ในจังหวัด แต่ยังหมายถึงการได้ออกไปจับมือกับองค์กรพันธมิตรที่ใหญ่กว่าระดับจังหวัดทั้งในและต่างประเทศ”

“ถ้าในอนาคตเกิดความร่วมมือระหว่างจังหวัดลำปางกับองค์กรระดับประเทศ เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, TCDC หรือแม้กระทั่ง OKMD สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ้าครั่งลำปางจะไม่ได้หมายถึงแค่สินค้า แต่ยังหมายถึงการสร้างเมืองสร้างสรรค์ที่จะมีทั้งตลาดผ้าครั่งตามย่านใจกลางเมือง เช่น สบตุ๋ย กาดกองต้า มีศูนย์การเรียนรู้และออกแบบแฟชั่นผ้าครั่ง มีพื้นที่สาธารณะให้กลุ่มอาชีพสร้างสรรค์ได้แสดงผลงานทางศิลปะ ซึ่งภาพอนาคตที่อาจารย์อยากจะเห็นต่อจากนี้ไม่ได้เป็นงานใหญ่แค่เฉพาะสถานที่ใดที่หนึ่ง แต่เป็นภาพที่มีความฝันทุกอย่างกระจายตัวทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัดลำปาง ซึ่งถ้าใครเคยไปเที่ยวงาน Bangkok Design Week หรือ Thailand Biennale ที่เชียงรายก็จะเป็นประมาณนั้นเลย”

ดร.ขวัญนภากล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า “แต่ถ้าคุณคาดหวังให้ผ้าครั่งลำปางเกิดแล้ว Big Impact ต่อจังหวัดลำปางได้จริง จะต้องทำออกมาในรูปแบบที่เป็น Big Project ที่สามารถพัฒนาได้ครอบคลุมทุกมิติ ความต่อเนื่องในการสนับสนุนจากรัฐคือส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ภาพอนาคตของผ้าครั่งอย่างที่อาจารย์เล่าไปได้มีโอกาสเป็นจริงมากขึ้น”  

ผู้เขียนในฐานะผู้พยายามขับเคลื่อนประเด็นกลุ่มอาชีพงานสร้างสรรค์ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ได้มองเห็นโอกาสจากผ้าครั่ง อัตลักษณ์ใหม่แห่งลำปางเช่นเดียวกับหลายคนที่อาจคิดเหมือนกันว่า ทำแล้วต้องไม่ใช่แค่งานวิจัยทำแล้วจบ หรือทำแล้วต้องไม่ใช่แค่เกิดการส่งเสริมอาชีพเพาะเลี้ยงครั่ง ย้อมผ้าสีครั่ง หรือรวมกลุ่มทอผ้าครั่งแล้วจบ แต่ต้องสามารถขยายผลไปยังอาชีพอื่นให้อยู่รอดได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ยังถูกมองว่าเป็นคนนอกระบบอย่างงานสร้างสรรค์ให้มีงานรองรับ เพื่อเพิ่มกำลังสร้างสรรค์เมืองจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลในเมืองเล็ก และเพื่อจะได้ออกไปตอบคำถามอย่างไม่ต้องเขินอายว่า “ลำปางจะหมุนตามกาลเวลากี่โมง”


อ้างอิงข้อมูลจาก

บทความวิจัย “ห่วงโซ่อุปทานการเพาะเลี้ยงครั่งในจังหวัดลำปาง”, นิศากร คำปุก ปัญญา หมั่นเก็บ และธำรง เมฆโหรา, ภาควิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการทรัพยากร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

หนังสือ “การเพาะเลี้ยงครั่งและการใช้ประโยชน์ครั่ง”, พรรณี เด่นรุ่งเรือง, กลุ่มงานพัฒนาผลิตผลป่าไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

รายงานการวิจัย “การย้อมสีครั่ง ของชาวลาวครั่งในประเทศไทย: วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และความเชื่อ”, สิทธิชัย สมานชาติ คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ข่าวประชาสัมพันธ์ “งานแสดงแฟชั่นโชว์การกุศล ในงานเทศกาลสวมผ้าย้อมคลั่ง “คลั่งรัก ครั่งลำปาง” ในงานฤดูหนาวและของดีนครลำปาง ประจำปี 2567”, สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง

สกู๊ปข่าว “ผ้าย้อมครั่ง ชุมชนบ้านทุ่งฮี สีสันอัตลักษณ์แห่งลำปาง”, สำนักข่าวลานนาโพสต์


บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)

รัชชา สถิตทรงธรรม (เนย)

จาก กทม. สู่ลำปางและแพร่ ฟังเพลงอินดี้ คลั่งไคล้วัฒนธรรมชาติพันธุ์เพราะออกจากเฟรนด์โซนไม่ได้ มีร้านป้ายอดเป็นร้านประจำเพราะอยากเปิดร้านอาหารชาติพันธุ์

Similar Posts