เรื่อง กนกพร จันทร์พลอย

ภาพถ่ายต้นฉำฉาสองฝั่งถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง เมื่อ พ.ศ.2515 โดยบุญเสริม สาตราภัย

หลังจากสถานการณ์ Covid-19 ที่บีบบังคับให้ช่วงที่ผ่านมาทุกคนต้องหาความสุขจากการอยู่ในบ้าน หลายคนเลือกที่จะใช้ ‘ต้นไม้’ ในการสร้างบรรยากาศในการต้องอยู่ต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่บ้าน อีกทั้งเกิดแนวโน้มในความต้องการหวนกลับคืนธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความเขียวของพืชพันธุ์ แม้จะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองก็ตาม เราจึงไม่สามารถปฏิเสธความเป็นมนุษย์ที่ต้องพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติได้ แม้จะเป็นเพียงภาพ ‘ความเขียว’ ในเมืองก็ตาม 

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตและขยายตัวมากขึ้น จนกินอาณาบริเวณถึงเมืองในเขตพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากผู้คนจากต่างถิ่นอพยพเข้ามาอยู่เมืองเชียงใหม่สูงมาก เพราะต้องการเข้ามาหางานทํา เมื่อมีคนมากขึ้น ประกอบกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย จึงทําให้พื้นที่ของการประกอบการ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ของการลงทุน ขยายตัวตามไปด้วย 

ยกตัวอย่างพื้นที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ขยายไปจากเขตเมือง ได้มีการเปลี่ยนพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่นาเป็นหมู่บ้านจัดสรร มีการขยายถนน ฯลฯ ซึ่งการขยายตัวของสิ่งเหล่านี้โดยปราศจากการออกแบบรองรับที่ดี ทําให้เกิดทําลายพื้นที่สีเขียว ที่เป็นพื้นที่ทำการเกษตรและทรัพยากรป่า รวมถึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เมืองเชียงใหม่ที่เคยมีภาพของเมืองน่าอยู่ มีมลภาวะทางอากาศเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี 

สภาพการณ์ดังกล่าวทําให้กลุ่มประชาชนหลายกลุ่มพยายามผลักดันพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง และพื้นที่ ชานเมืองขึ้นมา อาทิเช่น กลุ่มเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ได้นําเสนอให้เทศบาลฟื้นฟูสวนสาธารณะที่ถูกทิ้งร้างให้กลับมาใช้ประโยชน์ และเป็นปอดของคนในเมือง สภาลมหายใจ ที่ร่วมผลักดันการแก้ปัญหาในทุกระดับ ทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว ในเรื่องปัญหามลพิษฝุ่นควัน มุ่งไปสู่เป้าหมายให้เราทุกคนในสังคมมีอากาศสะอาดทุกฤดูกาล เครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม ที่ทำงานขับเคลื่อน สนับสนุนการรักษาต้นไม้ใหญ่ในเมืองไว้ อีกทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่มกรีนเรนเจอร์ คือกลุ่มเยาวชนที่ใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบภายในตัวเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักสวนครัว ปลูกต้นไม้ ซ่อมแซมต้นไม้ จัดสวนผักให้กับชุมชน บริการส่งผักอินทรีย์ เป็นพี่เลี้ยงให้กับทุกคนที่อยากปลูกผัก จัดกิจกรรมอบรมการทำเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชาชนในเขตพื้นที่ชานเมือง อย่างเครือข่ายอําเภอสันกําแพงที่เริ่มตระหนักว่าพื้นที่เมืองกําลังจะรุกล้ำพื้นที่สีเขียวอย่างไม่มีขีดจํากัด เช่น การขยายถนนในเขตสันกําแพง ที่มีการตัดต้นไม้จามจุรีที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ในขณะที่ชาวบ้านพยายามจะอนุรักษ์ต้นไม้ และพื้นที่สีเขียวเอาไว้ ด้วยเหตุผลสําคัญคือต้องการรักษาปอดของเมือง และทําให้เมืองมีความชุ่มชื้น และต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้

จากเว็บไซต์ mgronline.com ได้แสดงแผนที่พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองของประเทศ พบว่าพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองยังมีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ขององค์กรอนามัยโลก หรือ WTO ที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนหรือมากกว่า แต่มาตรฐานของประเทศไทย อยู่ที่ 16 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่ประเทศสิงค์โปร มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 66 ตารางเมตรต่อคน

ในปี 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีประชากรทั้งหมด 1,679,797 คน เมื่อเทียบอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อ 1 คนแล้ว หากแบ่งเป็นตามลักษณะของพื้นที่สีเขียวจะได้ดังนี้ 

  1. พื้นที่สีเขียวเพื่อการบริการสาธารณะ 6.88 ตารางเมตร/คน
  2. พื้นที่สีเขียวเพื่ออรรถประโยชน์ 2.53 ตารางเมตร/คน
  3. พื้นที่สีเขียวริ้วยาวตามแนวสาธารณูปการ 1.63 ตารางเมตร/คน
  4. พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชน 10.78 ตารางเมตร/คน
  5. พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ 3.41 ตารางเมตร/คน
  6. พื้นที่สีเขียวรอการพัฒนา 3.97 ตารางเมตร/คน 
อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2562

อย่างไรก็ดี เราไม่ควรจะให้ความสำคัญเฉพาะ ‘ปริมาณ’ ของพื้นที่สีเขียวที่ต่ำกว่ามาตรฐานเท่านั้น แต่มองให้ลึกแล้ว พื้นที่สีเขียวที่เรามีอยู่นั้น ต้องมีการจัดการที่ดีด้วยจึงจะสร้างพื้นที่สีเขียวที่มี ‘คุณภาพ’ ได้ เมื่อมองเรื่องการจัดการดูแลแล้ว ยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่สีเขียวในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีหลายภาคส่วนได้ร่วมกันดูแลจัดการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานรัฐท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ เทศบาลนครเชียงใหม่ 

ประชาธรรมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมสนับสนุนโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ทักษะหัวหน้างานรุกขกรรม เพื่อการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเขตเมือง” เมื่อวันที่ 9–11 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งร่วมจัดโดยหลายภาคส่วน อาทิ โครงการเขียว สวย หอม, สภาลมหายใจ, องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลายเครือข่าย เพื่อสร้างรุกขกรหรือนักศัลยกรรมต้นไม้ใหญ่ให้มีมากขึ้น รวมถึงสร้างองค์ความรู้ในการจัดการดูแลต้นไม้อย่างถูกต้อง ในสถานการณ์ที่พื้นที่สีเขียวของเรามีปริมาณมากแต่กลับไร้คุณภาพในการจัดการดูแล

ลักขณา ศรีหงส์ — ผู้ประสานงานโครงการเขียว สวย หอม

ลักขณา ศรีหงส์ ผู้ประสานงานโครงการเขียว สวย หอม ได้เล่าถึงความสำคัญในการจัดโครงการอบรมนี้ขึ้น เนื่องจากเธอมองว่า เชียงใหม่มีต้นทุนที่ดีอยู่แล้วเรื่องทรัพยากร ดินน้ำป่า ในป่าก็มีการจัดการที่แตกต่างกันกับในเมือง ปัจจัยสำคัญคือการบริหารจัดการ การจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างมีคุณภาพคืออะไร แต่ละพื้นที่ก็มีผู้มีอำนาจดูแลจัดการอยู่ หากว่ามีการบริหารจัดการที่ดีก็จะเป็นปัจจัยในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองเชียงใหม่ได้ หากเราเพิ่มมิติการจัดการที่เหมาะสมเข้าไป เช่น คนที่ดูแลพื้นที่สีเขียวมีองค์ความรู้ว่าต้นไม้ชนิดนี้ควรปลูกแบบไหน พื้นที่ใด ใช้พืชพันธุ์แบบใด ดูแลจัดการยังไง พอปลูกแล้วก็ต้องมีการจัดการ ตัดแต่งสม่ำเสมอ เพราะจะสามารถลดต้นทุนได้มากพอสมควรในการจัดการต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่

เราถามถึงจากการทำงานของเขียวสวยหอม ระดับของการจัดการพื้นที่สีเขียวของหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง

เธอมองว่าเรามีเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ท้องถิ่นที่ขยับนำไปคือ กทม. เราจะสังเกตว่าหลัง ๆ พื้นที่ในกทม.มีการจัดการ หน่วยงานราชการที่ขยับเรื่องนี้ไปแล้วก็จะมีกรมป่าไม้ การไฟฟ้า จะมีการอบรมบุคลากรของเขา รวมถึงกรมทางหลวง จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ อีกส่วนนึงมีภาคเอกชน ที่เปิดบริษัทตัดแต่งต้นไม้แล้ว ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำงานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ควรจะมีการทำนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ

แล้วภาคประชาชนควรทำอะไรได้บ้าง กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้

คนที่ประกอบอาชีพรุกขกรมีอยู่น้อยมาก ค่าใช้จ่ายในการตัดแต่งต้นไม้นั้นสูง ควรมีคนทำอาชีพนี้มากขึ้น ควรสร้างทักษะอาชีพของเขาให้มากขึ้น มีอาชีพมากขึ้น การสร้างคนเพื่อทำหน้าที่ในการดูแลจัดการ

กฤษดา กาวีวน — เจ้าหน้าที่ขับรถจักรกลเบา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.)
กฤษดา กาวีวน — เจ้าหน้าที่ขับรถจักรกลเบา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.)

กฤษดา เป็นเจ้าหน้าภาคปฏิบัติการของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่หรือ อบจ. ได้เล่าถึงขอบเขตของการทำงานของอบจ.ในเรื่องการจัดการดูแลต้นไม้ 

ในส่วนการทำงานของอบจ. จะครอบคลุมทั้งหมดของตัวจังหวัด ถนนทุกสาย ทางเส้นสันกำแพงก็อยู่เขตที่ดูแลอยู่ ส่วนใหญ่การจะตัด ดูแล ของชาวบ้านนั้นต้องทำหนังสือยื่นมาให้อบจ. ต้องทำให้หนังสือยื่นท้องถิ่นก่อน แล้วท้องถิ่นก็ไปประเมินว่าตนสามารถทำได้หรือไม่ หากเกินกำลังจะสามารถส่งเรื่องมายังอบจ.ได้ ส่วนพื้นที่สาธารณะ อบจ.มีขอบเขตในการดูแลจัดการต้นไม้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีการส่งเรื่องมาให้อบจ.ก่อนเสมอ

คชาชาญ ชัยธีระสุเวท — เจ้าหน้าที่ฝ่ายโสตสาธารณะและผังเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่

ต่อมา เราได้พูดคุยกับคชาชาญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโสตสาธารณะและผังเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ ทำหน้าที่ดูแลตัดแต่งกิ่งต้นไม้ในเขตภูมิทัศน์เมืองและดูแลเช่น ไม้ดั้งเดิมที่เขามีอยู่แล้ว ดูเรื่องการตัดแต่งทรงหุ้ม ถนนห้วยแก้วตั้งแต่ถนนดอยสุเทพ

“การตกแต่งดูแลต้นไม้ จริง ๆ แล้ว มันมีระยะของมันอยู่ แต่ที่เราประสบปัญหาคือ บุคลากรส่วนใหญ่ที่ทำงานเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนที่อยู่ปัจจุบันเริ่มเกษียณแล้ว หน้างานก็มีเท่าเดิม แต่ว่าบุคลากรเรามีน้อยลง ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ส่วนโสตมี 2 คน สวนสาธารณะในพื้นที่เชียงใหม่ จะมีการแบ่งหน้าที่กันของแต่ละทีม ของเทศบาลเมืองจะมีบริษัทย่อยเข้ามาดูแลในส่วนสวนสาธารณะ เนื่องจากบุคลากรเรามีไม่เพียงพอ และในรอบคูเมืองจะเป็นบริษัทย่อยเหมือนกัน”

“เราจะทำงานทั้งแบบไปตรวจตราต้นไม้และทำงานในเชิงมีการยื่นหนังสือให้ไปตัดแต่งให้ (ทั้งเชิงรุกและรับ) ในแต่ละปีเรามีการวางแผนกิจกรรมที่จะทำไว้ แต่ก็มีปัญหาในเรื่องมีงานฉุกเฉินแทรกเข้ามาด้วย”

อะไรคือความสำคัญที่สุดในการดูแลต้นไม้

คชาชาญตอบว่าการตัดแต่งต้นไม้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปหลังจากนั้น น่าจะสำคัญที่สุดในการทำงานของเขา และงานหลัก ๆ ที่ทำอยู่นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นการตัดแต่งต้นไม้และไม้พุ่ม จึงเป็นเหตุผลว่าต้องมีองค์ความรู้ในการจัดการดูแลต้นไม้ อย่างไรก็ดีภาคประชาสังคมหลายเครือข่าย รวมถึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดการต้นไม้ ได้ร่วมกันผลักดันพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเชียงใหม่เช่นกัน อย่างธราดล ทันด่วนก็ได้เข้ามาร่วมอบรมให้กับรุกขกรในครั้งนี้ด้วย 

ธราดล ทันด่วน — ผู้ชำนาญด้านการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง

ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลต้นไม้อย่าง ธราดล ทันด่วน ก็ได้มองว่าการจัดการต้นไม้นั้น เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่กรอบคิด เทคนิคภาคปฏิบัติ องค์ความรู้ที่ต้องศึกษา พัฒนา เนื่องจากบริบทอื่นแตกต่างจากเรามาก สถาบันการศึกษาต้องเคลื่อนเร็วกว่านี้

ระดับต้นน้ำ เรามีต้นไม้ที่มีอัตลักษณ์แต่ละชุมชน เรายังไม่ได้หยิบทรัพยากรออกมานำเสนอและใช้ประโยชน์กันมันได้มากพอ แต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน แม้แต่ภูมิภาคเดียวกันก็ตาม ต้นไม้จะมีลักษณะที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์ ต้นน้ำ เป็นหน้าที่ของกรมอุทยาน ต้องนำเสนอและดูแลรักษาอย่างไร ส่วนกลางน้ำ เราปลูกไม่รอบคอบ คิดจะปลูกก็ปลูก เช่น ต้นไม้ที่อยู่ในกรุงเทพ ในป่าเบญจพรรณ 5 เดือน แต่เอามาปลูกในพื้นที่ชื้น จึงทำให้มันเจริญเติบโตเร็วมากเกินไป ส่วนปลายน้ำต้องให้การศึกษา เรื่องการดูแลให้ถูกต้อง การแก้โดยใช้รุกขกรรมมันก็เป็นปลายน้ำ เป็นการไปแก้ไขปัญหาเดิมๆ ปลายเหตุ

หากจะแก้ปัญหาเดิมแล้ว ข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาในเมืองจะเป็นอย่างไร

หากอยากได้ป่าในเมือง ต้องสร้างเกาะใดเกาะหนึ่ง หลังจากนั้นสร้างทางเชื่อม ให้มันค่อย ๆ กระจายออกไป เช่น ในคูเมือง เอาถนนเส้นหนึ่งให้สวย หรือถนนที่เชื่อมกับสนามบิน สร้างต้นไม้ที่มีการจัดการที่ดี แล้วค่อย ๆ เชื่อมไปกับทางอื่น ๆ

วรงค์ วงศ์ลังกา — อาจารย์ภูมิสถาปัตย์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วรงค์ วงศ์ลังกา เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทในการเข้ามาผลักดันประเด็นการจัดการต้นไม้ในเขตเมือง จากการศึกษาและประสบการณ์การเข้ามาคลุกคลีกับประเด็นต้นไม้ประกอบกับความสนใจส่วนตัว ทำให้เขาย้ำปัญหาสำคัญของการจัดการดูแลพื้นที่สีเขียวในเมืองว่า “พื้นที่สีเขียวในเมืองแบบไม่จัดการจะให้พื้นที่สีเขียวที่ดีไม่ได้” เมืองที่แบบมีต้นไม้เยอะแล้วปล่อยให้มันโตเป็นอิสระ ไม่สามารถจะให้คุณภาพพื้นที่สีเขียวที่ดีได้ บ้านนอกมีต้นไม้ มีป่ารอบ พื้นที่แบบนั้นไม่ได้มีความหนาแน่นการอยู่อาศัยแบบในเมือง ในเมืองเป็นพื้นที่วิกฤติ เราอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น และเราปรับพื้นที่ใต้ต้นไม้ให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของมนุษย์ให้กลายเป็นลานจอดรถ เป็นทางเดิน ประกอบกับดินที่อยู่ในเมืองไม่มีระบบนิเวศแบบเดิมแล้ว มีปริมาณไส้เดือนที่น้อย ระบบซึมน้ำ อากาศในดินมันน้อย

เขาได้เล่าให้เราเห็นภาพวิวัฒนาการการปลูกต้นไม้ในเขตเมืองของเชียงใหม่ เรามีการรณรงค์การปลูกต้นไม้ในสภาวะ ปรากฎการณ์ในตอนแรกชาวต่างชาติเริ่มเข้ามา เส้นท่าแพ เต็มไปด้วยต้นมะฮอกกานี แต่เดิมเราปลูกไปตามความเชื่อ ต่อมาในปีพ.ศ. 2525–2530 มีสถานการณ์มลพิษทางอากาศ กระแสมลพิษในปีพ.ศ. 2550 พูดถึงเรื่องโลกร้อน ก็มีการปลูกต้นไม้กันอีก จึงมีการสะสมของการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง 

แต่ต้องย้ำเลยว่าถ้าต้นไม้หากไม่ได้รับการดูแลที่ดี มันจะให้คุณภาพที่ดีไม่ได้ นี่คือสถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน ไม่มีทิศทาง และการวางแผนที่ดี ยกตัวอย่างในพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ ปลูกต้นไม้ง่าย แต่ในพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ก็ไม่มีการปลูกเลย อย่างเช่นกลางเมืองเชียงใหม่ หากเอากล้องความร้อนส่องดูจะเห็นได้ชัดเลย เพราะแผนวิธีคิดแบบนี้ มันต้องพึ่งพานักวิชาการในการสร้างองค์ความรู้ที่ดีให้เกิดขึ้น

กระบวนการปลูกต้นไม่ในเมือง มันต่างจากการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ทั่วไป หากปล่อยให้มันทำงานด้วยวิธีคิดชุดเดิม ก็จะได้ผลลัพธ์เดิม ๆ และอีกส่วนหนึ่งที่เขาได้ศึกษาเรื่องของภูมิทัศน์วัฒนธรรม ในประเด็นของต้นไม้กับความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่คูเมืองเชียงใหม่ สำรวจวัดทุกวัน ศาลทุกศาล สิ่งเหล่านี้มันปกปักรักษาต้นไม้ เมืองนอก ตะวันตกใช้ระเบียบในการห้ามตัด ห้ามตอกตะปู เพื่อมาปกปักรักษาต้นไม่ แต่พอเราสั่งห้ามแบบนั้นจะไม่ได้ผล เราจะสังเกตได้ว่าต้นไม้ที่เทศบาลปลูกจะมีคนมาตอกป้ายปะยาง 24 ชั่วโมง เอาถุงขยะไปทิ้งใต้โคลน เอาถุงน้ำที่กินไม่หมดไปห้อย แต่ถ้าเป็นต้นไม้ที่มันมีผีอยู่ จะไม่กล้าทำ วัฒนธรรมเราปกปักรักษาต้นไม้แบบนั้น มิติของการรักต้นไม้ของล้านนามันกว้างมาก

และเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกี่ยวพันกับต้นไม้ เชียงใหม่ ไม่ใช่พื้นที่ธรรมดา เขามองว่ามันไม่ใช่ทุกที่ในโลกที่จะเอาอะไรมาปลูกมันก็เกิด อย่างโกศลมาจากประเทศอินเดีย และสภาพแวดล้อมของเรามันแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ เรากิน landscape ของเรา แกงแคหนึ่งถ้วย ใช้ผักจำนวน 21 ชนิด เปลี่ยนไปตามฤดูกาลด้วย มันไหลเวียนอยู่ในร่างกายเรา ความพิเศษนี้มันทำให้เราเปราะบาง หมายความว่า ถ้าเราปลูกโดยไม่คิด เอาอะไรไม่รู้มาปลูก เชียงใหม่จะเปลี่ยนไป

แล้ววิธีคิดที่ดีคืออะไร?

วิธีคิดที่มันค้ำยันกันอย่างแรกคือวัฒนธรรมกับต้นไม้ มันเชื่อมโยงกันอยู่ เขาศึกษาในลายดอกในวัดที่พูดถึงดอกไม้ มีอยู่ 25 ชนิด ศึกษาต้นไม้ในวรรณคดีล้านนาที่พูดถึงสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ พูดถึงต้นไม่อยู่สี่ร้อยกว่าครั้ง มี 51 ชนิด โคลงบทเดียวของดอยสุเทพมีต้นไม้อยู่ 21 ชนิด เขาจึงรู้สึกว่ามันเลี่ยงไม่ได้เลยที่เราจะเกี่ยวพันกับต้นไม้

ช่องว่างมันเกิดขึ้นเพราะอะไร และถ้าจะไปข้างหน้ามันจะต้องทำอย่างไรบ้าง?

มันเกิดจากเราไม่ใช้ประโยชน์มัน UNESCO บอกว่าการอนุรักษ์ใดก็ตามถ้าไม่ยืนอยู่บนฐานของการได้ประโยชน์ของคนในพื้นที่ การอนุรักษ์นั้นไม่สำเร็จ ยกตัวอย่างเทศกาลปีใหม่เมืองหรือสงกรานต์ที่เต็มไปด้วยการอนุรักษ์วัฒนธรรม การดำหัว กลายเป็นวันสาดน้ำกัน มันมีกระแสมากมายที่ทำให้เราต้องหลงลืมมันไป 

ตอนนี้สิ่งสำคัญคือการเชื่อม plug มันไม่ใช่เพียงแค่การทำให้คนรู้จัก แต่ต้องทำให้เห็นประโยชน์ ว่ามีแล้วมันได้อะไร ปัจจุบันนี้ภาครัฐ กำลังแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากเกิดการปลูกที่ไม่ดีตั้งแต่เริ่ม รุ่นก่อน ๆ แล้วเอาคนรุ่นปัจจุบันไปตามแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้น แต่องค์ความรู้ปัจจุบันมันสามารถย้ายต้นไม้ได้แล้ว ไม่ให้มันไม่ตายก็ได้ เช่น กรณีต้นชมภูพันทิพย์ ที่ตัดเพราะมันรบกวนเสาไฟฟ้า ก็เกิดคำถามว่าจะไปปลูกทำไม ในเมืองพันธุกรรมมันมีลักษณะที่สูงอยู่แล้ว เราไม่มี guideline การปลูกต้นไม้ในเมือง เราใช้ทั่วประเทศเลย มันจึงเกิดปัญหา จึงมองว่าการเชื่อมโยงระหว่างคนรู้กับคนทำ มันควรจะเกิดขึ้น

ท้ายสุดแล้ว หลายภาคส่วนมองเห็นว่าการจะมีพื้นที่สีเขียวที่ดีได้นั้น ต้องเกิดจากการจัดการที่ดี องค์ความรู้ที่มีเฉพาะทางตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ อย่างไรก็ดี ต้องมีการร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเข้าใจปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ ดังนั้นการสื่อสารระหว่างกันจึงจะช่วยสร้างความตระหนักรู้และร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

Similar Posts