ภาพ: พิเชษฐ์ เเจ้มา/เยาวชนพลเมืองสันกำแพง

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2565 เวลา 13.00 น. มูลนิธิสื่อประชาธรรมร่วมกับ โรงเรียนสันกำแพง โรงเรียนบ้านหนองโค้ง  กลุ่มเยาวชนพลเมืองสันกำแพง กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง และมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกันจัดทำโครงการ “เปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน” ภายใต้โครงการภายใต้โครงการ พลังพลเมืองเด็กเยาวชนรู้เเท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน (MIDL for Inclusive Cities 2022) ได้จัดกิจกรรม “ฉำฉาของทุกคน” ณ ลานใต้ต้นฉำฉา กาดต่อนยอน ชุมชนโหล่งฮิมคาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 

ภายในงานมีการเปิดงานด้วยการแสดงกลองสะบัดชัย จากโรงเรียนบ้านหนองโค้ง และนิทรรศการภาพวาดจากผู้เข้าร่วมทั้งหมด

นันทา เบญจศิลารักษ์ /ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อประชาธรรม

ก่อนมอบรางวัล นันทา เบญจศิลารักษ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อประชาธรรม เป็นตัวแทนจากผู้จัดกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้ขึ้นมา 

“งานครั้งนี้เราใช้ชื่องานว่า “เปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน” ภายใต้โครงการ MIDL เนื่องจากเราได้จัดอบรมเรื่องสื่อให้กับเยาวชนและสร้างความเข้าใจในเรื่องต้นฉำฉาบนถนนสันกำแพง เห็นสภาพต้นฉำฉาแล้วก็ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดขึ้นมา โดยมีรุ่นพี่จากโรงเรียนสันกำแพงที่คอยพูดคุยและให้ความรู้ เป็นการประกวดภาพวาดภายใต้หัวข้อ “ฉำฉาของทุกคน” เรามองว่าต้นฉำฉาไม่ได้ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคนที่จะมาร่วมกันดูแล เราคาดหวังว่างานครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือในการดูแลและฟื้นฟูต้นฉำฉาร่วมกัน และจะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่สันกำแพงด้วย”

หลังจากพิธีมอบรางวัล ต่อด้วยการเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัล ร่วมไปถึงรับฟังการเเสดงความคิดเห็นต่อผลงาน

“เราจะเห็นว่ามีต้นฉำฉาบนสันกำแพงสายเก่า ให้บรรยากาศที่ร่มรื่น จึงอยากให้ทุกคนช่วยดูแลต้นฉำฉาที่มีอยู่”

“ต้นฉำฉาถูกแทนที่ด้วยตึกและสิ่งปลูกสร้าง”

“ฉำฉาเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่ให้ร่มเงา ความร่มรื่นกับทุกคน และเป็นสถานที่ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่ตลาด พื้นที่มาพบปะกัน การใช้ชีวิตร่วมกับร่มไม้ฉำฉา”

“ทุกคนและต้นฉำฉาสามารถอยู่ร่วมกันได้”

“เมื่อก่อนหนูบ้านอยู่ติดกับถนนสันกำแพง มีต้นไม้อยู่หน้าบ้านเยอะ หนูเลยสงสัยและไปถามคุณย่า คุณย่าเล่าว่าเมื่อก่อนเขาเกณฑ์ผู้ชายมาช่วยกันปลูกต้นไม้ เป็นต้นฉำฉาอย่างทุกวันนี้”

“มองว่าต้นฉำฉานั้นมีประโยชน์ สามารถนำมาทำเป็นยารักษาโรคในสมัยก่อนได้ ซึ่งในปัจจุบันก็สามารถนำมาทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ได้”

ณัฐพงษ์ พรสมบูรณ์กิจ /ปลัดอำเภอสันกำแพง

ต่อมา ณัฐพงษ์ พรสมบูรณ์กิจ ปลัดอำเภอสันกำแพง ได้แสดงความยินดีที่ได้เป็นส่วนร่วมในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน และมีความยินดีที่จะสนับสนุนต่อไป

สมศักดิ์ จีนสกุล /นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลสันกลาง

ต่อมา สมศักดิ์ จีนสกุล นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลสันกลาง ได้แสดงความยินดีที่เห็นกิจกรรมนี้เกิดขึ้น และมองว่าการปลูกต้นไม้ที่อยู่ติดกับถนน อาจจะต้องระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยบ้าง 

ศราวุธ ธิวรรณ์ /รองนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลสันกำแพง

ต่อมา ศราวุธ ธิวรรณ์ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลสันกำแพง หวังว่ากิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะช่วยกันอนุรักษ์ต้นฉำฉานี้แล้ว จะสามารถต่อยอดการใช้ศิลปะในอนาคตต่อไปได้ 

วิทยา ไชยนันท์ รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงที่ 2

ด้านวิทยา ไชยนันท์ รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงที่ 2 เห็นว่าเยาวชนมีทักษะด้านศิลปะและสามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของต้นฉำฉา เช่น วิถีชีวิต การเกิด การมี หรือการปลูก การดูแลรักษา ตลอดถึงการนำไปใช้ประโยชน์ และย้ำว่าแม้ต้นฉำฉาจะมีทั้งคุณและโทษ แต่ส่วนใหญ่ต้องเป็นคุณประโยชน์ เพราะสร้างความชุ่มชื้น ความเขียว ความสวยงามให้กับถนนเส้นทาง รวมถึงการเป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมด้วย ต่อไปคือโจทย์ว่าจะอยู่กันอย่างไรให้ต้นไม้อยู่ได้ และจะทำอย่างไรให้ต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขามีการตัดแต่งอย่างไรให้ถูกต้อง เนื่องจากมีบางกิ่งก้านที่เลยไปบ้านของประชาชน จึงอยากให้ทางมูลนิธิและเครือข่ายเข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำในการตัดแต่งต่อไป

สล่าเพชร วิริยะ /กลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง

ท้ายสุด ทางสล่าเพชร วิริยะ ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพงได้แสดงความยินดี และชื่นชมการเข้าร่วมของเยาวชนที่เป็นพื้นที่ของต้นฉำฉาที่เปรียบเสมือนไม้หมายเมืองของอำเภอสันกำแพงและดีใจที่วันนี้เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูต้นฉำฉา ได้สื่อสารกับทางภาครัฐเพื่อมาร่วมกันดูแลต่อไป 

โรงเรียนสันกำแพง
โรงเรียนบ้านหนองโค้ง

ภาพบรรยากาศงานและการเตรียมงาน และทางผู้จัดขอขอบคุณทางชุมชนโหล่งฮิมคาวที่ได้อำนวยความสะดวกในเรื่องสถานที่และสนับสนุนการทำงานตลอดมา

Similar Posts