12 ตุลาคม 2566

10 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมคำแสน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการอนุรักษ์ต้นจามจุรีบนถนนทางหลวงหมายเลข 1006 ถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ได้ร่วมประชุมครั้งที่ 2 เพื่อพูดคุยเปิดข้อมูลสถานะสุขภาพของต้นฉำฉาหลังจากที่ได้มีการสำรวจต้นฉำฉาไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นได้มีการเปิดข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นในเขตและนอกเขตถนนสายวัฒนธรรมอำเภอสันกำแพงในระยะเวลา 3 ปีย้อนหลัง (2563 – ปัจจุบัน)

จากข้อมูลสำรวจพบว่าเขตตำบลต้นเปา มีต้นฉำฉามากที่สุด

ด้านนันทา เบญจศิลารักษ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อประชาธรรม ได้นำเสนอข้อมูลการสำรวจต้นฉำฉาจำนวน 218 ต้น จากการลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์ของ อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้เมื่อต้นปี 2566 การเก็บข้อมูลในครั้งนี้ใช้วิธีบันทึกลง google earth เป็นฐานข้อมูลสุขภาพ ภาพถ่ายของต้นฉำฉา จากการลงสำรวจพบว่า พื้นที่มีต้นฉำฉามากที่สุดคือพื้นที่เขตเทศบาลตำบลต้นเปา จำนวน 116 ต้น รองลงมาคือเขตเทศบาลตำบลสันกลางคือ 56 ต้น ต่อมาคือเขตเทศบาลตำบลสันกำแพง จำนวน 46 ต้น และสุดท้ายเขตเทศบาลตำบลหนองป่าครั่งจำนวน 20 ต้น

สภาพต้นฉำฉาที่พบโดยภาพรวมอยู่ในช่วงสีส้มถึงแดง

เกณฑ์ในการประเมินโดยใช้หลักเกณฑ์ทั้งหมด 15 ข้อ พบว่า

  1. ความหนาแน่นของทรงพุ่ม มองผ่านทรงพุ่มแล้วเห็นฟ้าด้านหลังในระดับ 40-30-20-10%
  2. ความสมดุลของทรงพุ่ม พบว่าเอียงน้อยกว่า 30-40-50%
  3. ปัญหาของทรงพุ่มต่ออาคารบ้านเรือน ไม่พบว่าละสายไฟ อาคาร ยื่นมาในถนน
  4. ความผิดปกติของทรงพุ่ม มีโรคหรือแมลง แผล พบมากกว่า 30-40-50%
  5. ความผิดปกติของกิ่ง พบว่ากิ่งแห้งผุ ตอผุคาลำต้น กิ่งเป็นโรค แมลงมีร่องรอยเจาะ ยางไหล
  6. ความผิดปกติของลำต้น พบเป็นโพรง ผุ
  7. มีร่องรอยของการเจาะยางไหล
  8. ลำต้นมีสองนางหรือสามนาง
  9. ความผิดปกติของราก คือรากโผล่พ้นดิน รากเน่า รากผุ รากไม่สมมาตร มีร่องรอยการทำลาย บาดแผล
  10. สิ่งแวดล้อมบริเวณต้น อยู่ใกล้แหล่งชุมชน เสาไฟฟ้า-ท่อประปา และใกล้สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน ถนน สะพาน
  11. การใช้ประโยชน์ของประชาชน มีการใช้ประโยชน์จำนวนมาก บ่อยครั้งในรอบวัน คือการสัญจร
  12. สภาพดินแน่นมากไป
  13. ความชื้นในดินสูง
  14. เป็นแนวรับลม
  15. เป็นแนวร่องน้ำ

ต่อมา กฤตย์ เข็มเพชร ปลัดอาวุโส อำเภอสันกำแพง กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์ หลังสำรวจ ได้มีเสียงสะท้อนเชิงลบกับต้นไม้ใหญ่เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนสายวัฒนธรรม ทางอำเภอสันกำแพงจึงได้ทำหนังสือตรวจสอบถึงสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นบนถนนสายวัฒนธรรมและถนนสายอื่นใน อ.สันกำแพง โดยได้รับข้อมูลจากสถานีตำรวจภูธรสันกำแพงกับโรงพยาบาลสันกำแพง ย้อนหลัง 3 ปี (2563 – ปัจจุบัน) พบว่าข้อมูลอุบัติเหตุบนถนนสายวัฒนธรรมอำเภอสันกำแพง ระหว่างปี 2563-2566 เปรียบเทียบข้อมูล โรงพยาบาลสันกำแพง และสถานีตำรวจสันกำแพง ดึงข้อมูลมาจากการบันทึกประจำวันไว้ พบว่าหากดูข้อมูลเปรียบเทียบแล้ว มีจำนวนอุบัติเหตุลดลง อย่างไรก็ดี ในแต่ละปียังคงมีผู้เสียชีวิตบนถนนเส้นวัฒนธรรมสันกำแพงอยู่

กฤตย์ เข็มเพชร ปลัดอาวุโส อำเภอสันกำแพง

เป้าหมายของ คกก. คือฟื้นฟูฉำฉา-ดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน

ด้านชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ตัวแทนจากชุมชนโหล่งฮิมคาว ต.สันกลาง มองว่า ควรให้ข้อมูลชัดกว่านี้คือเรื่องความเร็วในการใช้รถใช้ถนน และพิจารณาเรื่องความประมาทหรือไม่ประมาท ความเร็วรถ และความถี่ที่เกิดอุบัติเหตุในส่วนนั้น ๆ ด้านตัวแทนจาก สำนักงานวัฒนธรรมเชียงใหม่ กล่าวแลกเปลี่ยนว่า ข้อมูลเปรียบเทียบ มันยังมองไม่เห็นว่าข้อมูลทั้งหมดในอ.สันกำแพง ทั้งปี เกิดอุบัติเหตุทั้งปีเท่าไหร่ และเกิดในเส้นวัฒนธรรมเท่าไหร่ เพื่อจะได้เห็นภาพรวมในการเกิดข้อมูลทางอุบัติเหตุบนถนน อ.สันกำแพง

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ตัวแทนจากชุมชนโหล่งฮิมคาว ต.สันกลาง

ข้อเสนอของชัชวาลย์ มองว่า ควรจะมีข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ และให้ผู้ว่าฯ เพื่อเสนอต่ออบจ.เชียงใหม่ ให้ข้อสรุปข้อมูลการสำรวจสุขภาพรวมถึงข้อมูลอุบัติเหตุ ให้มีการดูแลรักษาต้นไม้ที่วิกฤติ ต้องประมวลข้อมูลให้ชัด ทั้งสุขภาพและอุบัติเหตุ เสร็จแล้วทำแนวทางหรือข้อเสนอ หลักการใหญ่คือ ฟื้นฟูและดูแลความปลอดภัย

  1. สร้างมาตรฐานความเร็ว local road
  2. ทำป้ายต้นไม้ให้เห็นชัดเจน
  3. การดูแล การตัดแต่งกิ่ง การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจน
  4. ทำ MOU ระหว่างแขวางการทางหลวงกับท้องถิ่น
  5. ขอความอนุเคราะห์จากหมอต้นไม้ หรือสำนักงานป่าไม้
ภิญโญ พัวศรีพันธุ์ นายอำเภอสันกำแพง

ด้าน ภิญโญ พัวศรีพันธุ์ นายอำเภอสันกำแพงกล่าวว่า เราจะใช้คำว่าฟื้นฟู ให้มันคงอยู่กับคนในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสถิติอุบัติเหตุ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุทั้งหมดในพื้นที่ อ.สันกำแพง อย่างไรก็ตาม พบว่าจำนวนต้นไม้ที่เป็นจุดบอดที่มักจะเกิดอุบัติเหตุนั้นมีน้อยกว่า 5 ต้น ของจำนวนทั้งหมด 218 ต้น กล่าวคือเราจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนี้ ทางอำเภอรับว่าจะทำหนังสือประสานกับ อบจ. เชียงใหม่ และส่วนราชการจังหวัด เพื่อช่วยกันจัดหางบประมาณในการฟื้นฟูรักษาต้นฉำฉาที่เจ็บป่วย และจะมีการประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อจัดทำป้ายลดความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะบนถนนฉำฉาเพื่อลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น 

อนันต์ศิลป์ พรหมลิขิตศิลป์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง

ด้านอนันต์ศิลป์ พรหมลิขิตศิลป์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง กล่าวว่าหากมีการหันหน้ามาคุยกันแบบนี้ จะช่วยสร้างทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ได้ และเรื่องจุดบอดของต้นฉำฉา มองว่าหากมีแนวทางในการย้ายต้นไม้ได้ ก็ควรทำแต่หากทำไม่ได้ มองว่าเราก็จำเป็นต้องตัดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนบนถนนสายวัฒนธรรมนี้

ทิศทางต่อไปหลังจากนี้คือเรื่องความเห็นของชุมชนในเรื่องต้นฉำฉาสันกำแพง ด้านครูตระการ ทนานทอง ตัวแทนโรงเรียนสันกำแพงและกลุ่มเยาวชนพลเมืองสันกำแพง ได้รับการสนับสนุนจาก สสย. ยังไม่มีข้อมูลในทางสังคม ยังไม่มีใครไปสำรวจความเห็นเลย แต่ในปีนี้เราเริ่มจากนักเรียนใน อ.สันกำแพง เป็นแบบสอบถามให้กับชุมชน อาจจะมารายงานเป็นช่วง ๆ ในการประชุม

สมชาติ มหาวงศ์ทอง เลขานุการนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลสันกำแพง

ด้านสมชาติ มหาวงศ์ทอง เลขานุการนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลสันกำแพง มองว่าควรเป็นการพัฒนาแบบองคาพยพ ถ้าเราเห็นทิศทางในการพัฒนา ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมได้ ถ้าเราทำให้เกิดภาพพจน์ที่มันดูดี เป็นการเปิดหน้าบ้านเราอย่างหนึ่งที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้

ด้านชัชวาลย์ มองว่าให้ทำงานที่สอดคล้องกับนโยบาย soft power ของรัฐบาลในชุดนี้ ให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วย

ท้ายสุด ตระการ ทนานทอง ตัวแทนจากโรงเรียนสันกำแพง ได้ร่วมกับโรงเรียนบ้านหนองโค้ง กล่าวถึงโครงการเปลี่ยนสันกำแพงด้วยพลังเยาวชน รุ่นที่ 2 ซึ่งจะมีกิจกรรมที่จะทำหลังจากนี้คือการดึงบทบาทเยาวชนเข้าไปลงพื้นที่-เก็บข้อมูลสอบถามความคิดเห็นของชุมชนเกี่ยวกับต้นฉำฉาบนถนนสันกำแพงต่อไป ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สสย.

Similar Posts