เรื่อง: กฤติมา หริ่มยิ่ง และ SAI SAR AUNG /Activist Journalist

เมืองท่าขี้เหล็กและคนกลุ่มต่าง ๆ ก่อนการมาของจีนใหม่

เมืองชายแดนท่าขี้เหล็ก มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จุดกำเนิดเกิดขึ้นจากการอพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายกลุ่ม นับตั้งแต่ขยายอำนาจของบรรดาเจ้านครรัฐในยุคก่อนอาณานิคม จนถึงยุคของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมไปถึงในยุคของสงครามกลางเมืองในประเทศจีน ด้วยเหตุที่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ชายแดนที่มีการอพยพไปมาของผู้คน ทำให้ประชากรของเมืองทั้งสองฟากฝั่งนั้นล้วนเป็นผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น ชาวไทย (คนเมือง) ไท อาข่า ไทใหญ่ พม่า ว้า และจีน 

ภาพ: ผู้คนในเมืองชายแดน

ประชากรในท่าขี้เหล็กส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อ ซึ่งมีสองกลุ่มที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ กลุ่มที่อพยพมาจากสิบสองปันนาจากสงครามภายในประเทศจีนและช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (พ.ศ. 2509 – 2519) กลุ่มนี้อพยพผ่านเมืองเชียงตุง และเมืองยอง จากนั้นก็มีการโยกย้ายมาตั้งรกรากตามพื้นที่ชายแดนท่าขี้เหล็ก อีกกลุ่มอพยพมาจากเมืองยองโดยตรง เริ่มขึ้นในช่วงปี 2523 สืบเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังว้า กองกำลัง ก๊กมินตั๋ง กองกำลังไต(กลุ่มขุนส่า) (วสันต์ ปัญญาแก้ว,2561)

นอกเหนือจากสาเหตุจากสงครามและความไม่สงบทั้งในจีนและเมียนมาแล้ว อีกสาเหตุนั้นมาจากการพัฒนาเมืองชายแดนจากความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจนเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแถบภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดการอพยพโยกย้ายชาวไทลื้อจากเมืองยองเข้ามาตั้งรกรากหรือหางานทำในเมืองชายแดนท่าขี้เหล็กเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า การอพยพย้ายถิ่นของผู้คนทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง กลายเป็นชุมชนท่าขี้เหล็กและพัฒนากลายเป็นเมืองชายแดนที่ผู้คนทั้งสองฟากฝั่งเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ มีการติดต่อไปมาหาสู่กันในชีวิตประจำวัน สิ่งที่แตกต่างกันในปัจจุบันคงมีเพียง “การถือสัญชาติ” เพียงเท่านั้น ดังแนวคิดของนักวิชาการที่เป็นตัวแบบของปฏิสัมพันธ์ในเมืองชายแดนและลักษณะเฉพาะเจาะจงของพื้นที่ชายแดน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นของนักประวัติศาสตร์ด้านชายแดนศึกษา ชื่อ Oscar J.Martínez (1994) ผู้เขียนหนังสือ Border People ,Life and society in the u.s.- mexico borderlands ซึ่งเสนอว่าในการทำความเข้าใจชายแดน ต้องทำความเข้าใจในสองด้าน ควบคู่กันไป ด้านที่หนึ่ง ต้องมองว่าชายแดนมีปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่อยู่ 4 แบบ 

1.ปฏิสัมพันธ์ชายแดนที่ความแปลกแยกซึ่งกันและกัน 

ปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ชายแดนแบบนี้มีความขัดแย้งของทั้งสองประเทศดำรงอยู่ มีการสู้รบทางการทหาร มีข้อพิพาททางการเมือง คนทั้งสองประเทศมีความรู้สึกชาตินิยมแบบเข้มข้น มีความปฏิปักษ์ทางอุดมการณ์ ศาสนาแตกต่างกัน วัฒนธรรมไม่เหมือนกัน บรรยากาศของพื้นที่ชายแดนเต็มไปด้วยความตึงเครียด ไม่มีการค้าขายระหว่างประเทศ มีการวางกองกำลังทหารตึงตลอดแนวชายแดนทั้งสองฝั่ง ยกตัวอย่างเช่น ชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ในช่วงทศวรรษ 1830 หรือในปัจจุบัน ชายแดนเกาหลีเหนือ – เกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปฏิสัมพันธ์ที่แตกแยกซึ่งกันและกัน

2.ปฏิสัมพันธ์ชายแดนซึ่งอยู่ร่วมกัน

ภายใต้ปฏิสัมพันธ์ประเทศที่มีชายแดนที่อยู่ติดกันได้ลดขัดแย้งทางการเมืองและการทหารลงไปในระดับที่จัดการไม่ให้เกิดความรุนแรง ทั้งนี้ความขัดแย้งถึงแม้ไม่สามารถแก้ไขได้แต่ก็อยู่ในระดับที่ประคับประคองไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น  ภายใต้ปฏิสัมพันธ์นี้จะมีการติดต่อค้าขายกันระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ข้ามแดนไปมาได้ในระดับนึง 

3.ปฏิสัมพันธ์พรมแดนที่พึ่งพาอาศัยกัน

ประเทศที่มีพรมแดนติดกันต่างได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์ ทางด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนา มีความผูกพันกันในทางด้าน ทุน ตลาด และแรงงาน มีการไหลข้ามแดนของเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์มากยิ่งขึ้นและทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศผูกมัดซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ออก ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามภายใต้ปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่พรมแดนในแบบนี้ มักมีความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่พัฒนากับประเทศที่ด้อยพัฒนา โดยประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากกว่ามักจะเข้าไปอาศัยใช้ทรัพยากรและแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเช่น พรมแดนของสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก และกรณีประเทศไทย-เมียนมาร์ 

ทั้งนี้ ระดับของปฏิสัมพันธ์ระหว่างของทั้งสองประเทศ มักจะผูกโยงเข้ากับข้อกังวลการย้ายถิ่นฐาน การแข่งขันทางเศรษฐกิจ การลักลอบข้ามแดนขนส่งของคนและสินค้าอย่างผิดกฎหมาย มักจะทำให้รัฐบาลมีความระมัดระวังในการเปิดพรมแดนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติไปด้วย 

4.ปฏิสัมพันธ์การบูรณาการของพรมแดน

ภายใต้ปฏิสัมพันธ์แบบนี้ เพื่อนบ้านทั้งสองฝั่ง มีการกำจัดความแตกต่างที่สำคัญ ๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็สถาปนาความสัมพันธ์ข้ามแดน มีการพึ่งพาอาศัยกันด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แรงงานสามารถข้ามแดนไปทำงานในอีกฟากฝั่งนึงได้โดยไร้ข้อจำกัด แนวคิดชาตินิยมของผู้คนถูกแทนที่ด้วยอุดมการณ์นานาชาตินิยมซึ่งให้ความสำคัญกับสันติภาพ คุณภาพชีวิตของประชาชนในสองฟากฝั่งผ่านการค้าและการกระจายตัวของเทคโนโลยี ประเทศที่มีปฏิสัมพันธ์แบบบูรณาการในลักษณะแบบนี้มีความยินดีที่จะเสียสละอำนาจเหนือเขตแดนและบางส่วนเพื่อความก้าวหน้าของทั้งสองประเทศ ภายใต้ความสัมพันธ์แบบบูรณาการพรมแดนนี้เป็นปฏิสัมพันธ์ในเชิงอุดมคติที่ประเทศทั้งสองมีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีแรงกดดันทางด้านประชากรดำรงอยู่ ทั้งสองประเทศไม่ได้รู้สึกถึงภัยคุกคามของการย้ายถิ่นข้ามแดนภายใต้การเปิดพรมแดน ยกตัวอย่างเช่น การรวมกลุ่มเป็นประชาคมยุโรป เป็นตัวอย่างปฏิสัมพันธ์ที่สื่อให้ได้เห็นได้ชัดในด้านนี้

ทั้งนี้ Martinez ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ไม่ว่าพรมแดนต่าง ๆ ทั่วโลกจะมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบใด ในทั้ง 4 แบบที่กล่าวมาข้างต้นก็ตาม พรมแดนก็มีลักษณะอันเฉพาะเจาะจงของตัวเองโดยมีเงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ การมีปฏิสัมพันธ์ข้ามชาติ ความขัดแย้งและประณีประนอมระหว่างชาติ ความขัดแย้งและประณีประนอมทางชาติพันธุ์และการที่พรมแดนตั้งอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของประเทศ 

แนวคิดของ Oscar J.martínez  ซึ่งมีความต่างจากเมืองอื่น ๆ เป็นแนวทางสำคัญในการความเข้าใจประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของเมืองท่าขี้เหล็กตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน จากปฏิสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับไทย การปิดพรมแดนในช่วงสงครามเย็น การเปิดประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ข้ามแดนที่พึ่งพาอาศัยกัน ภายใต้กรอบอาเซียนในขณะเดียวกันแนวคิดก็สามารถทำความเข้าใจเฉพาะเจาะจงซึ่งมีความต่างจากเมืองชายแดนเมืองอื่น ๆ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย(Oscar J.martínez ,1994)

ท่าขี้เหล็กกับจีนใหม่กับทวิลักษณ์ของเมืองชายแดน

ความหลากหลายของผู้คนที่หลากหลายเชื้อชาติในพื้นที่ชายแดนท่าขี้เหล็ก นำไปสู่เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้เมืองชายแดนแห่งนี้เป็นที่สนใจของนักธุรกิจต่างชาติรายใหญ่มากขึ้น ตึกรามบ้านช่องในจังหวัดท่าขี้เหล็กได้ถูกก่อสร้างเพิ่มขึ้นเรียงรายอย่างมากมาย จากเดิมที่เคยมีการปลูกบ้านชั้นเดียวไม่ใหญ่โตมากไปตามถนนสายหลัก นักธุรกิจก็เริ่มเข้ามาลงทุนในการก่อสร้าง ตึกสูง อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม และบ้านจัดสรรมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจีน ที่ล้วนมีความต้องการเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อทำธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งในระยะแรกเป็นเพียงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลเมียนมา การตั้งคาสิโนในเขตท่าขี้เหล็กอยู่ภายใต้นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลเมียนมา ตามกฎหมายของเมียนมาไม่ได้บ่งบอกว่าการพนันเป็นสิ่งกฎหมาย ทำให้การพนันกลายเป็นเรื่องธรรมดาในทุกพื้นที่ในประเทศเมียนมารวมถึงบ่อนคาสิโนด้วย จึงมีนักลงทุนชาวไทยจำนวนไม่น้อยเข้าไปเปิดกิจการอย่างโรงแรม 9 ชั้นในจังหวัดท่าขี้เหล็ก เนื่องจากกฎหมายของไทยไม่อนุญาตให้เปิดบ่อนการพนันอย่างถูกกฎหมายในประเทศ กลุ่มทุนขนาดใหญ่จึงหันหน้าเข้าหาพื้นที่ชายแดนอย่างท่าขี้เหล็ก ทำให้ทุกคาสิโนในท่าขี้เหล็กต้องมีโรงแรมที่พักควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เป็นสถานบันเทิงครบวงจรเช่นเดียวกับในเขตพรมแดนจีน-เมียนมา ธุรกิจพนันและคาสิโน จึงกลายเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของกองทัพรัฐบาลเมียนมา นำไปสู่การเป็นเมืองชายแดนที่มีเส้นแบ่งระหว่างถูกกฎหมายกับผิดกฎหมาย ส่งผลต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจแก่คนในพื้นที่นับแต่นั้นมา ดังแนวคิดของนักวิชาการ

แนวคิดพรมแดนในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่มองว่าในโลกที่มีการข้ามแดนทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเพิ่มมากยิ่งขึ้น พรมแดนได้ถูกปรับเปลี่ยนหน้าที่อย่างมีนัยสำคัญตามไปด้วย ดังที่ Liam O’Dowd (2003) ได้เขียนบทความชื่อ The Changing Significance of European Borders เสนอให้เห็นว่าพรมแดนมีหน้าที่ 4 ประการ ประกอบด้วย 1.พรมแดนในฐานะที่เป็นเครื่องกีดขวาง 2.พรมแดนในฐานะสะพานเชื่อมโยงสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ชาติ 2.พรมแดนในฐานะที่เป็นทรัพยากร และ 4.พรมแดนเป็นสถานที่แห่งโอกาสทางการเมืองและเศรษฐกิจของชาติและรัฐ ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในพรมแดนทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และในบางครั้งคนบางกลุ่มก็เข้าไปใช้ทรัพยากร เข้าไปแสวงหาประโยชน์ โดยการทำให้พรมแดนยังคงทำหน้าที่เป็นเครื่องกีดกั้นไม่ให้คนอื่นเข้าไป ในขณะที่คนอื่น ๆ ก็ปรารถนา สร้างให้พรมแดนทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยง นอกจากนี้ในบางครั้งผู้คนก็ใช้พรมแดนเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจโดยการสร้างให้พรมแดนทำหน้าที่เป็นทั้งเครื่องกีดกั้นและเป็นทั้งสะพานเชื่อมโยงพรมแดนในเวลาเดียวกัน แนวคิดพรมแดนของในฐานะที่เป็นทรัพยากรมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจของการปรากฏตัวขึ้นของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่เคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานและใช้ประโยชน์จากเมืองท่าขี้เหล็กเพื่อเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายทั้งห้วงเวลาที่แตกต่างกัน(Liam O’Dowd,2003)

เช่นจากกรณีผู้เขียนได้สัมภาษณ์ นาย ท็อป เป็นนักธุรกิจที่เป็นคนท่าขี้เหล็กตั้งแต่กำเนิด จุดเริ่มต้นเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยและได้ไปทำงานต่างถิ่นและเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาหลายที่ เมื่อกลับมายังเมืองบ้านเกิดได้จุดประกายความคิดและมองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจสร้างอาชีพ จากการที่เห็นเม็ดเงินทุนจีนไหลเข้ามาจำนวนมากในท่าขี้เหล็ก จึงเปิดบริษัทเกี่ยวกับสถาปนิก ในภาพรวมของการธุรกิจในระยะเวลาเปิดบริษัทเกือบ 1 ปี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนจีน โดยคนจีนจะเน้นกับการลงทุนของสิ่งใหญ่ เช่น สนามกอล์ฟและโรงแรม ในการรับพนักงานเข้ามาทำงานในบริษัทจะไม่จำกัดวุฒิ นายท็อปกล่าวว่า

ในปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่จะเริ่มไม่เรียนต่อกันแล้วตั้งแต่มีการยึดอำนาจของรัฐบาล เลยจะไม่จำกัดวุฒิการศึกษา บางส่วนมาจากย่างกุ้ง คนเมียนมาเหมือนกัน แต่สิ่งที่จะเน้นมากที่สุด คือ ความคิดสร้างสรรค์ เพราะรู้สึกว่าทำงานกับเด็กจะมีความกระตือรือร้นมากกว่าผู้ใหญ่ เด็กนั้นสามารถใส่ความคิดใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา

โดยปัญหาและความท้าทายในการรับคนเข้ามาทำงาน คือ “วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในท่าขี้เหล็ก นั้นทำให้คนที่มาจากต่างเมืองปรับตัวเข้าสังคมได้ยาก เนื่องจากท่าขี้เหล็กเป็นเมืองติดชายแดนและจะรับวัฒนธรรมของคนไทยเข้ามา เช่น การใช้ภาษาไทย การใช้อัตราเงินไทย

หากมองด้านความเปลี่ยนแปลงที่มีวัฒนธรรมจีนใหม่และกลุ่มนักลงทุนเข้ามานั้นถือเป็นโอกาส

ทำให้มีอัตราการจ้างงานเยอะมากขึ้น การค้าขายของคนทั่วไปดีขึ้น พวกอัตราเงินเดือนก็เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าอะไรที่เพิ่มมากขึ้นก็จะมีข้อเสีย พออัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้นตาม เมื่อมีนักลงทุนจีนเข้ามา เงินทุนของจีนมันหนา ทำให้บังคับสถานการณ์ว่าทุกคนต้องพูดภาษาจีนได้ หากพูดภาษาจีนไม่ได้ ก็จะไม่มีงานทำ การสื่อสารนั้นต้องสามารถสื่อสารได้อย่างน้อย 2-3 ภาษา ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างมีราคาเพิ่มขึ้นสูง 2-3 เท่าจากเดิม ส่งผลให้ในตอนนี้คนทั่วไปในพื้นที่ต้องพึ่งธุรกิจจากกลุ่มนักลงทุนจีนเป็นหลัก ทางเลือกเดียว คือ การเป็นลูกจ้าง เพราะไม่มีเงินทุนมากพอ บางรายโดนนายทุนจีนกดเยอะเข้า ก็จำเป็นต้องขายตรงส่วนนั้นไป” นายท็อปกล่าว

 มุมมองและความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ในเมืองท่าขี้เหล็กอย่างนายท็อปมองว่า “การที่คนจีนเข้ามาเยอะ ๆ นั้นจะมีการเข้ามาตั้งอาณานิคมของตนเองย่อย ๆ ไว้ บางกลุ่มมีธุรกิจสีเทาเข้ามาเกี่ยวข้อง  กฎหมายบางอย่างก็ไม่อำนวยกับคนในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่อาจถูกกลืนกินจากคนจีนและสร้างความไม่ปลอดภัยได้

ภาพ: เมืองท่าขี้เหล็กที่เงียบเหงา

อย่างไรก็ดี นางเอ (นามสมมติ) ผู้ประกอบการร้านขายยาที่อาศัยอยู่ในท่าขี้เหล็กมาเป็น

ระยะเวลากว่า 30 ปีกลับมองว่า “กลุ่มทุนจีนเข้ามาทำให้เมืองท่าขี้เหล็กมีความวุ่นวาย เข้ามาสร้างสิ่งไม่ดี ไม่มีความปลอดภัย มีอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น สมัยก่อนเปิดร้านได้ถึง 4 ทุ่ม มีคนจำนวนมากพลุกพล่าน แต่ปัจจุบันเงียบมาก 2 ทุ่มก็ต้องปิดร้าน เพราะเงียบมาก” และหากพูดถึงเรื่องธุรกิจสีเทาของกลุ่มนักลงทุนจีน มองว่า “รู้สึกสงสารคนที่ต้องไปทำงานให้กับคนอื่น ที่ไม่ใช่คนของประเทศของตนเอง ดูจากคนเมียนมาที่ย้ายข้ามไปทำงานฝั่งไทยเพราะเงิน คนไทยข้ามมาทำงานฝั่งท่าขี้เหล็กก็เพื่อเงินของธุรกิจคนจีนเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงที่เฟื่องฟูในทศวรรษ 2530 

ท่าขี้เหล็กเริ่มเติบโตภายหลังบริบททางการเมืองในการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า มีการเปิดประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ชายแดนต่าง ๆ เช่น จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า สะพานมิตรภาพระหว่างประเทศ ตลาด การค้าชายแดน และการลงทุนจากทั้งนายทุนท้องถิ่นและนายทุนระดับชาติ มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำงานในท่าขี้เหล็กจำนวนมาก จากการลงพื้นที่สำรวจถึงความเปลี่ยนแปลงรวมถึงมุมมองของคนในพื้นที่ท่าขี้เหล็ก อย่างกรณีนางบี (นามสมมติ) เป็นคนลื้อ จากเมืองยอง มาอาศัยอยู่ท่าขี้เหล็กกับญาติ ใช้วิธีการเดินเท้าจากเมืองยองเป็นระยะเวลา 3 คืน 4 วัน เมื่อมาอยู่กับญาติจึงตัดสินใจลงหลักปักฐานและมีครอบครัวอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 33 ปี ทำงานเก็บเงินจนสามารถสร้างตัวได้ ปัจจุบันเป็นเจ้าของรับก่อสร้าง ขนดินและทราย ซึ่งทำมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทำ 2 คน กับพี่ชาย  หากเล่าย้อนไปถึงท่าขี้เหล็กในยุคก่อน นั้น ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า

“ท่าขี้เหล็กสมัยก่อน มีเงิน 5 บาท 3 บาท ซื้อเนื้อ อีก 2 บาท ซื้อข้าวได้ 1 ห่อ เทียบกับยุคนี้ถือว่าท่าขี้เหล็กนั้นเจริญขึ้นอย่างมาก”

เช่นเดียวกับ นางเอ (นามสมมติ) ผู้ประกอบการร้านขายยาที่อาศัยอยู่ในท่าขี้เหล็กมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี นั้นมีมุมมองว่าท่าขี้เหล็กในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างลิบลับ หากเทียบในปี พ.ศ.2534 ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า

ที่พื้นที่แทบทั้งหมดยังเป็นป่า ที่ดินจะเป็นของกลุ่มคนไทใหญ่ที่จะไม่ขายที่ดินให้กับกลุ่มคนสัญชาติอื่นเป็นอันขาด  เริ่มจากการซื้อขายที่ดิน ในยุคสมัยนั้นที่ดินขนาด 60*40 ตารางฟุต มีราคาเพียง 150,000 บาท แต่ในปัจจุบัน มีราคาสูงถึง 7 ล้านบาท และทุกครัวเรือนจำเป็นต้องมีเครื่องปั่นไฟ เพราะไฟจะมีให้ใช้แค่ 6 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น เท่านั้น ในการสร้างเสาไฟและดึงไฟเข้ามาใช้ แต่ละครัวเรือนต้องเสียเงินครัวเรือนละ 35,000 บาท เมื่อมีทุนจีนเข้ามา ร้านขายยาจากยุคสมัยนั้นมีเพียง 18 ร้าน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 80 ร้าน การนำเข้ายามาขาย นำเข้ามาจากประเทศไทย ค่าเช่าที่จาก 8,000 บาท เป็น 30,000 บาทต่อเดือน 

และนางเอกล่าวถึงประโยชน์ของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า

การค้าขายและการหารายได้  มีทิศทางที่ดีมากขึ้น ถือว่าท่าขี้เหล็กกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจดีที่สุดหากเทียบกับเมืองอื่นในประเทศเมียนมา มีอัตราจ้างแพงที่สุด  อีกทั้งยังทำให้การข้ามแดนมาทำงานที่ประเทศไทยมีความคล่องตัวและง่ายมากขึ้น

เมืองท่าขี้เหล็กจึงนำไปสู่การเกิดการเปลี่ยนโฉมจากเมืองของพื้นที่การเกษตร เป็นพื้นที่ของเมืองการค้าชายแดนที่เฟื่องฟู จากการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มนักลงทุนที่ทำให้ที่ดินมีราคาพุ่งสูงจากแต่ก่อนอย่างลิบลับ

ความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลง 

เมืองท่าขี้เหล็กที่ในอดีตมีแต่ป่าและผู้คนอยู่อาศัยไม่กี่ครัวเรือน เป็นเพียงเมืองหนึ่งที่มีอาณาเขตติดกับประเทศไทย กลับกลายมาเป็นเมืองชายแดนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่ง ส่งผลให้พื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในด้านต่าง ๆ ที่มีทิศทางอยู่กับความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิต ทั้งการจราจร ซึ่งมีผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นลูกของแม่ค้าในพื้นที่ กล่าวถึงการจราจรที่เปลี่ยนไปในท่าขี้เหล็ก ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า

“การข้ามไปเรียนฝั่งไทยครั้งนึง กลับมาอีกครั้งก็จะไม่เหมือนเดิม จากเคยใช้เวลาขับรถเพียง 15 นาที เปลี่ยนเป็น 2 ชั่วโมง ทุกอย่างที่นี่เปลี่ยนไปทุกอาทิตย์” 

ภาพ: ภาพสนามบินท่าขี้เหล็ก /กฤติมา หริ่มยิ่ง

การเดินทางข้ามประเทศ ในเมืองท่าขี้เหล็กนั้นมีเพียงท่าอาศยานแห่งเดียว คือ “Tachilek Airport” ซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยของสนามบินอย่างแน่นหนามาก บุคคลภายนอกห้ามเข้า มีผู้รักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบหน้าประตู แม้กระทั่งผู้รับส่งผู้โดยสารก็ไม่สามารถเข้าไปภายในตัวอาคารได้ มีการสอบถามอย่างเข้มงวด ส่วนใหญ่สนามบินท่าขี้เหล็กจะใช้ขนส่งทั้งคนและของไปยังเพียงเมืองไม่กี่เมืองภายในประเทศ ได้แก่ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ตองจี มิตจินา และราโช 

อีกทั้งพื้นที่เกือบทั้งหมดนั้นถูกขายเพื่อนำไปสร้างผลประโยชน์อย่างมหาศาลให้นักธุรกิจต่างชาติ จนเป็นเมืองที่ผู้คนต้องการข้ามแดนไปทำงานเป็นจำนวนมาก มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของการรวมกันของกลุ่มคนชาติพันธุ์ทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่นั้นขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว แม้จะมีสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ด่านชายแดนต้องปิดตัวลง แต่เศรษฐกิจในเขตท่าขี้เหล็กการลงทุนยังคงหมุนเวียนเป็นปกติแตกต่างจากพื้นที่อื่น 

แม้กระทั่งกลุ่มนักลงทุนจีน นับตั้งแต่เริ่มมีการเข้ามาแทรกซึมในพื้นที่เพียงในระยะเวลาไม่กี่ปี จนสามารถสร้างเป็นอาณาจักรของตนเองได้ แต่ยังมีการจับกุมในพื้นที่ควบคุมโดย กองทัพว้า (UWSA) ในรัฐฉานทางตะวันออก หลังจากได้มีการบุกกวาดล้างขบวนการมิจฉาชีพออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และส่งตัวชาวจีนไปให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนที่ด่านชายแดนเมืองผูเอ่อร์ ยูนนาน ติดกับเมืองปางซาง เมียนมา ในเขตควบคุมของรัฐฉาน

กรณีผู้เขียนได้สัมภาษณ์ นางบี (นามสมมติ)  ในมุมมองของคนในพื้นที่เมืองท่าขี้เหล็กหากมองถึงการเปลี่ยนแปลงในท่าขี้เหล็ก ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า

“ตั้งแต่ปี 2021 ที่เริ่มมีการเข้ามาของธุรกิจออนไลน์ ทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น ดูจากรถยนต์และการปลูกสร้างที่มีมากขึ้น ที่นี่รวยแต่บ้าน รวยแต่รถยนต์ แต่ดูสภาพถนนยังเป็นลูกรังไม่มีใครเข้ามาดูแลหรือแก้ไข แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ดี การจราจรมีแต่ความวุ่นวาย มีการขายบริการและค้ามนุษย์ อย่างที่เป็นข่าวว่าคนไทยถูกหลอกมาทำงานฝั่งนี้ ไม่จริงหรอก จำนวนเงินมันเยอะผิดปกติ ทุกคนต้องรู้อยู่แล้ว ว่างานจะเป็นแบบไหน ลองคิดในมุมกลับกัน คนฝั่งนี้ที่ข้ามไปทำงานฝั่งไทย ยังต้องไปเป็นแรงงานทำงานหนัก ถ้างานที่นี่มันได้เงินดีแถมสบาย คนฝั่งนี้จะข้ามไปทำไม”

พื้นที่ปกครองพิเศษเป็นเหมือนพื้นที่ข้อยกเว้น หรือเมืองชายแดนที่เป็นศูนย์รวมของความเจริญของการค้านี้จะเป็นเพียงผลประโยชน์ของรัฐบาลที่สามารถเปลี่ยนแปลงแล้วแต่ความต้องการของผู้มีอำนาจได้ตลอดเวลา


อ้างอิงข้อมูล

สัมภาษณ์เจ้าของกิจการ,สัมภาษณ์คนไทลื้อ,สัมภาษณ์เจ้าของร้านขายยา ในเขตพื้นที่ท่าขี้เหล็ก


บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)

กฤติมา หริ่มยิ่ง

SAI SAR AUNG

นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่สนใจในความซับซ้อนของชายแดน ความเปลี่ยนแปลง และความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อระหว่างกัน

Similar Posts