เรื่อง: ศักรินทร์ สุยแก้ว /Activist Journalist

ภาพ: ศักรินทร์ สุยแก้ว

สถานการณ์ความยากจน ของประเทศไทย ยังเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้เสร็จสิ้น แม้ว่ารัฐบาลและหลายหน่วยงานจะพยายามระดมสรรพกำลังลงไปแก้ปัญหา พร้อมทั้งหาแนวทางช่วยเหลือผ่านนโยบายหลายอย่าง แต่ท้ายที่สุดก็ยังพบจำนวนในประเทศอีกจำนวนมาก ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการดูแล และยังคงเพิ่มจำนวนคนจนขึ้นเรื่อย จนทำให้เยาวชนไทยบางกลุ่มไม่ได้รับโอกาสทางด้านการศึกษา เนื่องจากฐานะของครอบครัวยากจน และสิ่งที่เกิดใหม่ในยุคปัจจุบัน คือ เด็กไม่ชอบระบบการเรียนการสอน และรูปแบบการเรียนการสอนที่ตายตัว

อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ว่าการไม่ชอบระบบการศึกษา และเทรนด์การไม่เรียน ไม่ทำงาน เป็นปัญหาใหม่ ที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา จากเดิมที่มีปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติดและปัญหาท้องไม่พร้อมอยู่แล้ว ทำให้ตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปี 2565 สูงถึงกว่า 100,000 คน จากเดิมที่เคยพบว่า 90,000 คน

“ปัจจัย คือ ความยากจน ทำให้ปัญหาปากท้อง เป็นเรื่องใหญ่มากกว่าปัญหาการศึกษา เด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เลือกที่จะออกจากระบบการศึกษา มาทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย โดยงานออนไลน์ หรือ การเป็นยูทูปเบอร์ เป็นสายอาชีพ ที่เด็กเหล่านี้ให้ความสนใจจำนวนมาก เพราะรายได้สูง” อรรถพลกล่าวในบทสัมภาษณ์

ทิว (นามสมมุติ) บุคคลทั่วไปกับความเห็นเรื่องของการศึกษาไทยในปัจจุบัน อธิบายถึง ’การบวชเรียน’ ในแง่ของ ‘ทางเลือก’ ของเยาวชนที่จะสามารถเข้าถึงการศึกษา สำหรับครอบครัวที่ไม่ค่อยมีทุนทรัพย์ ทั้งนี้ทิวยังอธิบายเพิ่มเติมว่ารัฐเองก็ควรที่จะจัดการศึกษาให้เยาวชนได้เข้าถึงการศึกษาที่ฟรีและเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาของความเหลื่อมล้ำ

ประวัติศาสตร์ของการบวชเรียน

ภาพ: ศักรินทร์ สุยแก้ว

ประวัติศาสตร์การบวชเรียนในประเทศไทยเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการมาถึงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยราวพุทธศตวรรษที่  3 และค่อย ๆ เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา การบวชเรียนในปัจจุบันนั้น มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยแยกการศึกษาของภิกษุสามเณร และเด็กนักเรียน รวมถึงส่วนราชการที่รับผิดชอบออกจากกัน โดยให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบเฉพาะการศึกษา สำหรับเด็กนักเรียนเท่านั้น ส่วนการศึกษาสำหรับ ภิกษุสามเณรให้สังกัดกระทรวงธรรมการ คณะสงฆ์ก็ได้เป็นภาระรับผิดชอบดำเนินการต่างหากออก ไปจนเป็นเอกเทศจากการศึกษาของรัฐ โครงการและแผนการศึกษาของชาติในสมัยต่อมา ก็ไม่ได้กล่าวถึงสงฆ์และการศึกษาของสงฆ์อีกเลย การศึกษาของฝ่ายบ้านเมืองก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เจริญรุดหน้ามาตามลำดับ มีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน เกิดขึ้นมากมายทั่วทุกส่วนของประเทศและมีการพัฒนาทาง

ด้านการเรียนการสอนไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดเวลา ขณะที่สภาพการศึกษาพระปริยัติธรรม มิได้มีการแก้ไขปรับปรุง ทำให้ค่านิยมในหมู่เยาวชนและภิกษุสามเณรที่มีต่อการศึกษาปริยัติธรรม ลดลงไป พระภิกษุสามเณรมีความไม่มั่นใจต่อระบบการศึกษาสายพระปริยัติธรรมเดิมของคณะสงฆ์ จึงได้ขวนขวายเรียนวิชาต่าง ๆ ทางโลกมากกว่าวิชาพระปริยัติธรรม แต่ปัจจุบันนี้  พระเถระ ผู้บริหารการพระศาสนาเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อให้ได้เรียนวิชาการสมัยใหม่มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ได้แสดงบทบาทเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนขยายวิทยาเขตในทั่วประเทศมากขึ้น

การบวชเรียนมี 3 หลักสูตรหลัก ๆ คือ

1. นักธรรม  เรียนเนื้อหาพระวินัย พุทธประวัติ หลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา  จบชั้นเอก เทียบเท่าวุฒิ ม.3 (เรียนไม่ยากมาก เพราะเป็นภาษาไทย)

2. บาลี  เรียนเนื้อหาธรรมะจากต้นฉบับภาษาบาลี แบ่งเป็น 9 ชั้น ปธ.3 เทียบ ม.6  ปธ.9 เทียบเท่า ป.ตรี (เรียนยาก  เพราะเป็นภาษาบาลี  ใช้ความจำค่อนข้างมาก)

3. สามัญศึกษา เรียน ๘ กลุ่มสาระเหมือนทางโลก  มีเปลี่ยนบางวิชาเลือกอย่างลูกเสือเป็นวิชาศาสนพิธี  เปิดสอนชั้น ม.1 – ม.6 ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะเนื้อหาค่อนข้างใกล้เคียงทางโลก และคำว่า “บวชเรียน” ก็มักจะหมายถึงหลักสูตรนี้

ซึ่งหลังจากบวชเรียนจนจบระดับ ม.6  สามเณรก็สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ อย่างมหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยก็ได้ หรือเรียนต่อในมหาวิทยาลัยทั่ว ๆ ไปก็ได้เช่นกัน

สามเณรณัฏฐกิตติ์ ยันต์ช่างไชย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักธรรมเอก โรงเรียนวชิรมกุฏ กรุงเทพฯ บวชเรียนมา 6 ปี ที่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ให้สัมภาษณ์ว่า “เหตุที่เลือกบวชเรียน เพราะอยากบวชจะได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ และจะได้ช่วยลดความเป็นห่วงของพ่อแม่เพราะอยู่ในช่วงวัยรุ่น  ในระหว่างบวชเรียนก็มีความรู้สึกเบื่อบ้างท้อบ้างเป็นปกติ แต่เราก็มีเพื่อนมีน้องที่อยู่ด้วยกันเยอะ รวม ๆ ก็เป็นความสนุกที่ได้ความรู้ และรู้จักอะไรหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่าง”

ภาพ: ศักรินทร์ สุยแก้ว

ทางด้านของสามเณรอภิสิทธิ์ ตรึกตรอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักธรรมโท โรงเรียนวชิรมกุฏ กรุงเทพฯ บวชเรียนมา 6 ปี ที่วัดราชาธิวาสวรวิหาร ให้ความเห็นต่อการบวชเรียนว่า

“การบวชเรียน สามารถเรียนได้หลายหลักสูตร เช่น บาลี นักธรรม และปริยัติสามัญ การบวชเรียนสามารถลดค่าใช้จ่ายบางอย่างลงได้ เช่น ค่าเทอม หรือค่าบริการสาธารณะต่าง ๆ บางคนคิดว่า คนที่มาบวชเรียนอาจไม่มีฐานะทางครอบครัว แต่ความจริงแล้วทุกคนสามารถสามารถบวชเรียนได้ บางทีเขาอยากเปลี่ยนวิถีการเรียน หรืออยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็เป็นได้”

สาเหตุของผู้ที่เข้ารับการบวชเรียนนั้นมีทั้งอยากบวชเพื่อศึกษาศาสนา เพราะต้องการโอกาสการศึกษา หรือเพราะมีปัญหาทางครอบครัว และเมื่อผ่านการบวชเรียนในกระบวนการทางศาสนาแล้ว ผู้บวชเรียนก็สามารถเลือกที่จะอยู่ในสถานะใดก็ได้ไม่ว่าจะอยู่ในถานะภาพทางศาสนา หรือลาสิกขาออกไป ตามความต้องการของแต่ละคน  ในมิตินี้ ศาสนาจึงยังเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับการพัฒนาเยาวชนชายขอบที่ยังขาดโอกาสที่รัฐยังเข้าไปไม่ถึง โดยการเข้ารับการบวชเรียนสามารถทำได้หลายช่วงอายุด้วยกัน เริ่มตั้งแต่จบ ป.6 หรืออายุ 12 ปี เป็นส่วนมาก ทุกคนจะต้องรับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดให้โดยทั่วไป อย่างที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตามแต่ละพื้นที่ และยังได้เรียนแผนกนักธรรมชั้นตรีโทเอกและแผนกภาษาบาลีระดับเปรียญธรรมที่ 1 ถึง 9 เพิ่ม เนื่องจากเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของศาสนทายาทที่ต้องรู้ธรรมะในศาสนา ในส่วนผู้ที่บวชเรียนช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไปจะเลือกเรียนตามความถนัดของตน หรือตามคำแนะนำของผู้ปกครองที่ตนสังกัด

สถานศึกษาที่วัดจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม อย่างโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ หรือ 2 ช่วงชั้น คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดเป็นโรงเรียนในระบบเช่นเดียวกับรูปแบบโรงเรียนของรัฐและเอกชนทั่วไป โดยใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551    ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กำหนด 8 กลุ่มสาระ คือ 1) ภาษาไทย 2) คณิตศาสตร์ 3) วิทยาศาสตร์ 4) สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 5) สุขศึกษา และพลศึกษา 6) ศิลปะ 7) การงานอาชีพและเทคโนโลยี 8) ภาษาต่างประเทศ และมีวิชาเฉพาะที่กำหนดให้นักเรียนคือพระภิกษุสามเณรต้องเรียนตามนโยบายของคณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม คือ วิชาภาษาบาลี และพระพุทธศาสนา (อันประกอบด้วยพุทธประวัติ ธรรมวินัย และศาสนปฏิบัติ) เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาหลักพระพุทธศาสนาในคัมภีร์พระไตรปิฎก สามารถนำไปเป็นเครื่องมือเผยแผ่พระพุทธศาสนา อันเป็นหน้าที่สำคัญของพระภิกษุสามเณร ในฐานะที่เป็นศาสนทายาท (กองพุทธศาสนศึกษาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2557 , หน้า 2)

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงได้ออกระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พุทธศักราช 2546 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การศึกษาในโรงเรียนดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายบ้านเมือง กล่าวคือ ทางฝ่ายศาสนจักร ก็จะได้ศาสนทายาที่ดี มีความรู้ความเข้าใจ ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ดำรงอยู่ในสมณธรรม สมควรแก่ภาวะ สามารถธำรงและสืบต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญสถาพรต่อไป และถ้าหากพระภิกษุสามเณรเหล่านี้ลาสิกขาไปแล้ว ก็สามารถเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาของรัฐได้ หรือเข้ารับราชการสร้างประโยชน์ ก้าวหน้าแก่ตนเอง ครอบครัว และบ้านเมืองสืบต่อไปด้วยเช่นกัน

รัฐกับการสนับสนุนการศึกษาของสงฆ์ (หรือทุกคน) มากน้อยแค่ไหน?

ภาพ: ศักรินทร์ สุยแก้ว

รายงานข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงลึก จำนวน 848 กรณีศึกษาของ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ในปีการศึกษา 2566 สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษายังไม่พ้นวิกฤต ภาพรวมสถานการณ์ พบว่า เด็กในวิกฤตการศึกษา 3 ใน 4 คน อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ โดยเป็นเด็กช่วงชั้นประถมศึกษา 58% และมัธยมศึกษาตอนต้น 24% สาเหตุส่วนใหญ่เชื่อมโยงครอบครัวทั้งหมด โดยพบว่ากว่า 70% ของเด็กวิกฤตฯ ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ และ 73% ชีวิตมีปัญหาซับซ้อนมากกว่า 1 เรื่อง

นอกจากนี้ กสศ. ยังพบว่า ต้นเหตุใหญ่ของปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ทั้งที่มีนโยบายเรียนฟรีในปัจจุบัน เกิดจากครอบครัวนักเรียนยากจนรุนแรง ชีวิตสิ้นหวังมองไม่เห็นอนาคต ประกอบไปด้วย

1. ผู้ปกครองมีรายได้น้อย โดยรายได้ของครัวเรือนที่มีเด็กกลุ่มวิกฤตฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 900 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่หนี้สิ้นอยู่ที่ 40,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้แต่ละครอบครัวมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ประมาณ 45% .
        2.ผู้ปกครองไม่มีงานทำ ทำให้ไร้ความสามารถดูแลเรื่องการศึกษา
        3. ไม่มีค่าเดินทางมาเรียน
        4. ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
        5.ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะทางการศึกษา

ในส่วนของนโยบายสนับสนุนนั้น ปัจจุบันรัฐบาลให้การสนับสนุนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคลตามเกณฑ์ที่นักเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับ ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 กำหนดไว้ เช่นค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ค่าพาหนะ ค่าอาหารกลางวัน เป็นต้น ผ่านกรมการศาสนาในการกำกับดูแล ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติการศึกษาทั้งสามแผนก แผนกสามัญ แผนกนักธรรม และแผนกบาลี ก็ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา และกำลังผลักดันในเรื่องการจัดสรรงบประมาณทั้งทางด้านบุคลากรและนักเรียนให้ได้รับงบประมาณที่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นแนวโน้มของเด็กหลุดจากระบบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยากที่จะค้นหาชีวิตที่ดีกว่านี้

ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการสนับสนุนบางส่วนรองรับจากรัฐบาลดังที่กล่าวไปข้างต้น ไม่แน่ว่าการบวชเรียนที่ยังคงพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จะกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกทางการศึกษาที่จะช่วยมอบการศึกษาที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำและมีความมั่นคงให้กับเยาวชนของชาติได้ หรือเราอาจจะต้องกลับมาทบทวนนิยามของการศึกษาสำหรับทุกคนต่อไป?

ภาพ: ศักรินทร์ สุยแก้ว

ข้อมูลอ้างอิง

ศธ.เผยข้อมูลปี 65 เด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1 แสนคน

การพัฒนาการศึกษาคณะสงฆ์ไทย

สถานการณ์เด็กในวิกฤตหลุดจากระบบการศึกษา เสียงเงียบที่ต้องฟัง ทางออกที่มองเห็น


บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)

ศักรินทร์ สุยแก้ว

นักศึกษารามคำแหง หนุ่มสตอเมืองสะเดา มีใจรักมักสื่อสารครองใจคน นกพิราบนำส่งสารบนเส้นทางทางสายกลางสู่สันติภาพและสันติสุข

Similar Posts